For faster navigation, this Iframe is preloading the Wikiwand page for พระมหาเทวีแห่งหงสาวดี.

พระมหาเทวีแห่งหงสาวดี

พระมหาเทวีแห่งหงสาวดี
မဟာဒေဝီ
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งหงสาวดี
ระหว่างในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1383 – 4 มกราคม ค.ศ. 1384
ก่อนหน้าพระยาอู่ (ในฐานะกษัตริย์)
ต่อไปพระเจ้าราชาธิราช (ในฐานะกษัตริย์)
กษัตริย์พระยาอู่
เจ้าเมืองตะเกิง
ครองราชย์ค.ศ. 1364 – ป. ค.ศ. 1392
ก่อนหน้าพระตะเบิด
ต่อไป?
พระราชสมภพในหรือก่อน ค.ศ. 1322
เมาะตะมะ, อาณาจักรเมาะตะมะ
สวรรคตป. ค.ศ. 1392
ป. 754 มรันมาศักราช
ตะเกิง, อาณาจักรหงสาวดี
คู่อภิเษกพระตะเบิด (สมรส 1348; 1363)
ไชยสุระ (สมรส 1363; 1364)
พระราชบุตรไม่มีบุตร
พระเจ้าราชาธิราช (บุตรบุญธรรม)
ราชวงศ์ฟ้ารั่ว
พระราชบิดาพระเจ้ารามมะไตย
พระราชมารดานางจันทะมังคะละ
ศาสนาพุทธเถรวาท

มหาเทวี (พม่า: မဟာဒေဝီ, ออกเสียง: [məhà dèwì]; อักษรโรมัน: Maha Dewi; ราว ค.ศ. 1322 – ราว ค.ศ. 1392) เป็นเจ้าหญิงผู้สำเร็จราชการแห่งอาณาจักรหงสาวดีในช่วงราวสิบสัปดาห์สุดท้ายของรัชกาลพระยาอู่ (Binnya U) ผู้เป็นพระอนุชา พระนางยังทรงเป็นเจ้าเมืองตะเกิง (Dagon) ตั้งแต่ ค.ศ. 1364 ถึงราว ค.ศ. 1392

ก่อนดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น พระนางทรงเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระอนุชามาตั้งแต่ ค.ศ. 1369 และทรงปกครองแผ่นดินโดยพฤตินัยมาตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1380 แต่ราชสำนักไม่สนับสนุนพระนาง กลุ่มอำนาจในราชสำนักมักยกเอาข้อกล่าวหาที่ว่า พระนางมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวมายาวนานกับสมิงมะราหู (Smim Maru) หลานเขยผู้อ่อนวัยกว่าพระนางเป็นอันมาก มาบ่อนทำลายอิทธิพลของพระนาง ครั้นเมื่อพระยาน้อย (Binnya Nwe) พระนัดดาและพระโอรสบุญธรรมของพระนาง ก่อกบฏใน ค.ศ. 1383 สมิงชีพราย (Zeik-Bye) อัครมหาเสนาบดี ก็ลักลอบเข้าด้วยพระยาน้อย

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1383 พระยาอู่ประชวรและมอบราชการให้แก่พระนางอย่างเป็นทางการ แต่พระนางมิอาจปราบกบฏพระยาน้อยลงได้ สองเดือนให้หลัง พระยาอู่สวรรคต ราชสำนักเลือกพระยาน้อยขึ้นสืบสันตติวงศ์ ทรงพระนาม พระเจ้าราชาธิราช (Razadarit) พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงตั้งพระนางซึ่งเป็นพระมารดาบุญธรรมกลับไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตะเกิงดังเดิม แต่สถานะของพระนางในครั้งนี้เป็นไปในทางพิธีการเท่านั้น

ต้นพระชนม์

[แก้]

พระนางมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า "เม้ยนะ" (Mwei Na) เป็นพระธิดาของเจ้าหญิงจันทะมังคะละ (Sanda Min Hla) กับเจ้าชายสอเซน (Saw Zein) พระมารดาและพระบิดาทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน[1] เมื่อประสูติแล้ว ทรงได้รับพระนามว่า "วิหารเทวี" (Wihara Dewi) เพราะมีพระประสูติการในขณะที่พระบิดาทรงสร้างพระวิหารถวายสงฆ์[2] พระนางมีพระญาติร่วมพระบิดามารดา คือ เม้ยเน (Mwei Ne) พระเชษฐภคินี และพระยาอู่ (Binnya U) พระอนุชา[3] เนื่องจากพระยาอู่ประสูติใน ค.ศ. 1323/24[4] พระนางจึงน่าจะประสูติในหรือก่อน ค.ศ. 1322

หลังประสูติได้ไม่นาน พระบิดาก็ได้เถลิงถวัลยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรหงสาวดี มีพระนามว่า พระยารามมะไตย (Binnya Ran De) มีเมืองหลวงอยู่ที่เมาะตะมะ ส่วนพระเชษฐภคินีก็สิ้นพระชนม์ พระนางจึงเป็นพระราชบุตรพระองค์โตที่สุดที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ของพระยารามมะไตย พระองค์จึงประทานพระนาม "มหาเทวี" ให้แก่พระนาง อันเป็นพระนามซึ่งทรงเป็นที่รู้จักมาจนบัดนี้[3]

พระยารามมะไตยสวรรคตใน ค.ศ. 1330 พระนางและพระอนุชาจึงทรงกำพร้าพระบิดานับแต่นั้น[5] แต่พระมารดาของทั้งสองพระองค์ทรงคุมอำนาจในราชสำนักไว้ได้ โดยทรงตั้งพระมหากษัตริย์สืบราชบัลลังก์ต่อมาจน ค.ศ. 1348 ถึงสองพระองค์ และตั้งพระองค์เองเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ทั้งสองนั้น[6]

เจ้าหญิงแห่งตะเกิง

[แก้]

พระมหาเทวีมิได้เสกสมรสจนกระทั่งพระชันษาเกือบปลายยี่สิบ โดยใน ค.ศ. 1348 พระยาอู่ พระอนุชา ทรงสืบบัลลังก์แห่งเมาะตะมะ และโปรดให้พระนางเสกสมรสกับบุญลาภ (Bon La) บุตรชายของมุเตียว (Than-Daw) เสนาบดีผู้ทรงอิทธิพล เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แล้วพระยาอู่ก็ทรงตั้งบุญลาภเป็นเจ้าเมืองตะเกิง บรรดาศักดิ์ว่า "พระตะเบิด" (Bya Hta-Baik)[7] หลายปีให้หลังบุญลาภ ผู้เป็นพระสวามี ก็ได้เป็นพันธมิตรที่สำคัญของพระอนุชา

ครั้น ค.ศ. 1362 พระยาอู่ทรงขยายเจดีย์ชเวดากองให้สูงขึ้นถึง 20 เมตรเพื่อเป็นพระราชกุศล[8] แต่กลับเป็นช่วงสุดท้ายที่อาณาจักรจะอยู่สงบร่มเย็น เพราะในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1363 พระยาอู่และราชบริพารเสด็จออกจากเมาะตะมะ กลุ่มการเมืองคู่แข่ง นำโดยเจ้าชายพระตะบะ (Byattaba) ฉวยโอกาสเข้ายึดพระนครไว้ได้ และสมิงเลิกพร้า (Laukpya) พระเชษฐาหรืออนุชาของพระตะบะ ก็ก่อกบฏในลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมอิรวดี พระยาอู่จึงทรงตั้งบุญลาภ พระสวามีของพระมหาเทวี เป็นแม่ทัพนำกำลังไปกู้พระนคร แต่พระชายาของพระตะบะ กับตละแม่มะสำโร (Tala Mi Ma-Hsan) พระขนิษฐาร่วมพระมารดาหรือบิดาของพระมหาเทวี ทรงร่วมมือกันวางยาพิษฆ่าบุญลาภเป็นผลสำเร็จในช่วงเจรจาหย่าศึก[9]

พระมหาเทวีไม่ทรงมีเวลาอาลัยพระสวามีมากนัก ด้วยพระยาอู่โปรดให้เสกสมรสกับไชยสุระ (Zeya Thura) เจ้าเมืองมอบี (Hmawbi) ทันที แล้วโปรดให้ไชยสุระเป็นผู้บัญชาการทหารคนใหม่ยกกำลังไปยึดเมาะตะมะอีกครั้ง แต่ไชยสุระถูกสังหารกลางสมรภูมิ พระยาอู่จึงทรงตั้งพระมหาเทวีขึ้นเป็นเจ้าเมืองตะเกิง[10]

เจ้าเมืองตะเกิง

[แก้]

เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตะเกิง ปรากฏว่า พระมหาเทวีทรงเป็นผู้ปกครองที่สามารถอาจหาญ พระนางกลายเป็นพันธมิตรที่พระยาอู่ พระอนุชา ทรงขาดมิได้ เวลานั้น พระยาอู่ทรงไปตั้งราชสำนักอยู่ที่นอกเมืองวาน (Donwun) ห่างจากเมืองเมาะตะมะไปทางเหนือราว 100 กิโลมตร การที่พระมหาเทวีทรงบัญชาการเมืองตะเกิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กองทัพกบฏของสมิงเลิกพร้าไม่อาจรุกคืบไปถึงเมืองพะโค (Pegu) ในภาคกลาง ส่วนสมิงพระตะเบิด (Smim Than-Byat - คนละคนกับพระตะเบิด ซึ่งมีชื่อเดิมว่า บุญลาภ) ซึ่งเป็นพระเชษฐาหรืออนุชาของพระตะบะ แต่ภักดีต่อพระยาอู่ ก็ป้องกันเมืองพะโคมิให้ถูกสมิงเลิกพร้าโจมตีจากทางตะวันตกเป็นผลสำเร็จ[11]

แต่ใน ค.ศ. 1369/70 สถานการณ์กลับเลวร้ายลง ด้วยกองทัพของพระตะบะขับพระยาอู่ออกจากเมืองวานได้ ขอบเขตอำนาจของพระยาอู่บัดนี้จึงเหลือแต่เมืองพะโคที่เดียว ฉะนั้น พระยาอู่จึงทรงตั้งพะโคเป็นพระนครแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างเมืองตะเกิงของพระมหาเทวีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 62 กิโลเมตร[8][12]

การแย่งชิงอำนาจที่พะโค

[แก้]

ยิ่งพระอำนาจของพระยาอู่สั่นคลอน พระอำนาจของพระมหาเทวีก็ทวีขึ้น ครั้นอำมาตย์แพรจอ (Pun-So) อัครมหาเสนาบดีที่พระยาอู่ไว้พระทัย ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1369 พระยาอู่ก็ทรงหันมาพึ่งพาคำแนะนำของพระมหาเทวีผู้เป็นพระเชษฐภคินี[13] เหตุการณ์สำคัญ คือ เมื่อสมิงสามปราบ (Than-Byat) เจ้าเมืองกริบ (เมืองสิเรียม - Syriam) แปรพักตร์ พระมหาเทวีก็ทรงแนะให้ตีโต้ พระมหาเทวีทรงตั้งสมิงทะโยกคะราช (Yawga Rat) กับสมิงมะราหู ให้นำทัพข้ามแม่น้ำจากเมืองตะเกิงของพระนางเข้าไปยึดสิเรียมคืน การทัพครั้งนี้สำเร็จลุล่วงดังพระประสงค์ แต่พระยาอู่ก็ยังทรงตั้งมั่นอยู่ในพะโคต่อไป โดยทรงรอมชอมกับพระตะบะและสมิงเลิกพร้า พงศาวดารปากลัด (Pak Lat Chronicles) ระบุว่า พระยาอู่ทรงยอมมอบทองคำหนัก 16.33 กิโลกรัม พร้อมด้วยช้างสิบเชือก ให้แก่ทั้งสอง คนทั้งสองจึงยอมสวามิภักดิ์และกลับคืนเป็นข้าฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระยาอู่แต่ในนาม[14]

อย่างไรก็ดี การเถลิงอำนาจของพระมหาเทวีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งปวง กลุ่มการเมืองในราชสำนักที่มีสมิงชีพราย อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้นำ ต่อต้านพระนางอย่างลับ ๆ และสามปีให้หลัง พระนาง ในพระชนม์กว่า 50 ชันษา ก็ทรงถูกต่อต้านหนักขึ้น เมื่อทรงถูกกล่าวหาว่า เป็นชู้กับสมิงมะราหู ผู้เป็นหลานเขยที่อ่อนวัยกว่าพระนางยิ่งนัก สมิงมะราหูผู้นี้เป็นสวามีของตละแม่ศรี (Tala Mi Thiri) พระธิดาของพระยาอู่ และพระนัดดาของพระนางเอง เมื่อข้อกล่าวหานี้แพร่สะพัด ผู้คนทั้งพระนครก็เย้ยหยันพระนาง พงศาวดารมอญ ราชาธิราช ยังบันทึกเพลงกลอนที่ชาวเมืองขับร้องเสียดสีพระนางเอาไว้[15] ว่า "นกสตือไซร้ขึ้นไข่ไว้ในต้นไม้อันคาอันซุ่ง อันสตรีแก่จะใคร่ได้สามีหนุ่ม ถันยุคลนั้นไซร้ยานลงถึงรั้งผ้า"[16] เหตุการณ์ครั้งนี้เชื่อว่า เป็นที่มาของภาษิตมอญที่ว่า "นางนกยูงแก่ปีนขึ้นเค้าไม้ไปวางไข่ นางหญิงเฒ่าไร้ยางอายไปแย่งผัวชาวบ้าน" (The old peahen climbs up a tree to lay a clutch of eggs; the old woman brazenly steals another woman's husband.)[17]

อย่างไรก็ดี พระยาอู่ก็ทรงยังไว้พระทัยในพระนางมิเสื่อมคลาย ทั้งทรงมอบอำนาจให้พระนางมากขึ้น ๆ ทุกปี ด้วยพระพลานามัยทรุดโทรมลงตามลำดับ[18] แต่การงัดข้อกันเพื่อชิงอำนาจก็เป็นไปในทางรุนแรงขึ้นทุกขณะเช่นกัน หลายกลุ่มพากันหนุนพระนางและสมิงมะราหูมากขึ้น ๆ[19] เป็นเหตุให้ที่สุดแล้วกลุ่มของพระนางก็มีอำนาจมั่นคงสถาพรขึ้นในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1380 อันเป็นช่วงเวลาที่พระสุขภาพของพระยาอู่ถดถอยลงอย่างถึงที่สุด ฉะนั้น ใน ค.ศ. 1382 จึงปรากฏว่า พระมหาเทวีทรงได้ปกครองอาณาจักรหงสาวดีโดยพฤตินัยอยู่แล้ว[20] ครั้น ค.ศ. 1383 พระยาน้อย ผู้เป็นพระโอรสของพระยาอู่ ทั้งเป็นพระนัดดาและโอรสบุญธรรมของพระนางเอง ก่อหวอดต่อต้านพระนาง[21]

กบฏพระยาน้อย

[แก้]

พระยาน้อยนั้นอยู่ในความดูแลของพระมหาเทวีผู้เป็นป้ามาแต่ประสูติ เพราะเจ้าหญิงมุเตียว (Mwei Daw) พระมารดา ทรงคลอดพระองค์แล้วก็เสด็จสวรรคาลัย[22] พระมหาเทวีทรงอุ้มชูพระยาน้อยมาเสมือนพระราชบุตรในพระอุทร แต่พระยาอู่ พระบิดาของพระยาน้อย ไม่พอพระทัยในพระยาน้อยมาเสมอ เพราะทรงเห็นว่า พระยาน้อยมีน้ำพระทัยโหดเหี้ยม ครั้งหนึ่งถึงกับรับสั่งต่อพระมหาเทวีว่า อย่าให้พระยาน้อยสืบราชสมบัติเด็ดขาด[23] ด้วยเหตุนั้น พระยาอู่จึงทรงเลือกพ่อขวัญเมือง (Baw Ngan-Mohn) พระโอรสองค์น้อย เป็นรัชทายาท พระยาน้อยทรงทราบแล้วก็ทรงนิ่งเฉย[23]

ครั้น ค.ศ. 1382 พระยาน้อยทรงลักลอบได้เสียกับตละแม่ท้าว (Talamidaw) พระเชษฐหรือขนิษฐภคินีต่างพระมารดาของพระองค์เอง ยิ่งทำให้พระยาอู่พิโรธหนัก รับสั่งให้จับพระยาน้อยไปจำคุกไว้ แต่พระมหาเทวีก็ทรงวอนขอให้งดโทษเสีย จนพระยาอู่ทรงยอมปล่อยพระยาน้อย และยอมให้พระยาน้อยเสกสมรสกับตละแม่ท้าว โดยมีพระมหาเทวีเป็นองค์ประธานในการวิวาหมงคล[23]

แต่เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระยาน้อยทรงตระหนักว่า พระมหาเทวีทรงมีอำนาจเหนือแผ่นดินหงสาวดีมากเพียงไร และพระยาน้อยทรงเชื่อว่า พระนางจะเอาชายชู้มานั่งราชบัลลังก์ พระยาน้อยจึงทรงถือพระนางเป็นศัตรูสำคัญ[20][17] สมิงชีพรายเห็นสบโอกาส จึงยุแยงพระยาน้อยว่า พระมหาเทวี กับสมิงมะราหู ชายชู้ วางแผนจับพระยาน้อยประหารชิงบัลลังก์อยู่แล้ว[21] ครั้นวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1383 พระยาน้อยจึงตัดสินพระทัยก่อกบฏ[note 1] เช้ามืดวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1383 พระยาน้อยนำกำลัง 30 นายหนีออกจากเมืองพะโคไปยึดเมืองตะเกิงตั้งกองบัญชาการ[note 2]

เดิมที พระมหาเทวีมิได้สนพระทัยการไปของพระยาน้อยมากนัก แต่พระยาอู่ พระมหากษัตริย์ผู้ประชวรหนักอยู่นั้น รับสั่งให้พระนางเสด็จไประงับเหตุ พระนางจึงหมายพระทัยจะส่งกองพันกองหนึ่งไปรับมือ แต่สมิงชีพรายทูลว่า ไม่สมควร เพราะเป็นการกระทำของเจ้าชายหนุ่มผู้วู่วามเท่านั้น[24] พระนางเห็นด้วย จึงโปรดให้คณะทูตไปตะเกิงเพื่อเจรจาให้พระยาน้อยกลับคืนมาพระนคร พระยาน้อยมีราชสาสน์มากราบทูลว่า ยังทรงถือพระนางเสมือนพระมารดาอยู่ และจะเสด็จนิวัตภายในเดือนสิงหาคม[25]

แท้จริงแล้ว พระยาน้อยมิได้ตั้งพระทัยจะกลับพะโค พระองค์รวบรวมผู้นำท้องถิ่นรอบเมืองตะเกิงมาเข้าฝ่ายพระองค์ วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1383 พระมหาเทวีจึงโปรดให้คณะทูตอีกชุดไปเจรจากับพระยาน้อย[note 3] พระยาน้อยก็ทรงรับปากดังเดิมว่า จะกลับเมืองหลวงในเร็ววัน แต่ไม่ช้าพระมหาเทวีก็ทรงได้รับรายงานว่า พระยาน้อยส่งทูตไปขอความช่วยเหลือจากเมาะตะมะและมองมะละ (Myaungmya) ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรหงสาวดีแต่ในนาม พระนางจึงทรงส่งคณะทูตไปเมืองทั้งสองตัดหน้าพระยาน้อย[26] แต่ที่สุดแล้ว ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1383[note 4] พระนางก็ตกลงพระทัยว่า จะใช้กำลังขั้นเด็ดขาดกับพระยาน้อยทันทีที่สิ้นฤดูฝน[27]

การสำเร็จราชการแผ่นดิน

[แก้]

ขณะนั้น พระพลานามัยของพระยาอู่ทรุดหนักอย่างเห็นได้ชัด จนไม่ทรงสามารถออกว่าราชการได้อีก ฉะนั้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1383 จึงมีพระราชโองการมอบหมายราชการแผ่นดินทั้งสิ้นทั้งปวงให้แก่พระมหาเทวีผู้เป็นพระเชษฐภคินี ให้พระนางมีราชศักดิ์และสิทธิ์ที่จะใช้มหาเศวตฉัตรได้ดังพระเจ้าแผ่นดิน[note 5] เหตุนั้น จึงมีการขานพระนามว่า "มังมหาเทวี" (Min Maha Dewi)[28] แต่พระนางก็ยังทรงว่าราชการในพระนามาภิไธยของพระอนุชาต่อไป มิได้ทรงออกหน้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง[29]

พระบัญชาประการแรกที่พระนางมีเมื่อทรงเข้าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ คือ ให้ยึดเมืองตะเกิงคืนจากพระยาน้อย พระนางทรงตั้งสมิงมะราหูเป็นกองหน้า ตั้งสมิงชีพรายเป็นกองหลัง นำทัพสามทัพ หนึ่งจากเมืองพะโค หนึ่งจากเมืองเมาะตะมะ และอีกหนึ่งจากเมืองมองมะละ ออกจากพะโคไปในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1383[note 6] แต่ทัพเมืองเมาะตะมะและมองมะละนั้นมิได้ประสงค์จะเข้าร่วมศึกอย่างแท้จริง มาแต่เฝ้าสังเกตเหตุการณ์เท่านั้น ส่วนสมิงชีพรายซึ่งเป็นฝ่ายพระยาน้อยมาแต่ต้นแล้ว ก็ลอบรายงานการทัพต่อพระยาน้อยสม่ำเสมอ ครั้นทัพทั้งสามไปถึงเมืองตะเกิง ก็ตั้งยั้งอยู่นอกเมือง แต่ไม่อาจตกลงกันเรื่องแผนประสานงานได้ พระยาน้อยจึงส่งทูตไปยังค่ายฝ่ายเมาะตะมะและมองมะละเจรจาให้ถอนตัว คณะทูตทำงานสำเร็จ ทัพมองมะละเป็นกลุ่มแรกที่ลาจาก ตามมาด้วยทัพเมาะตะมะในอีกไม่กี่วัน จึงเหลือแต่ทัพจากพะโคให้พระยาน้อยจัดการ[30] ครั้นวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1383[note 7] พระยาน้อยเปิดศึกกับกองหน้าที่นำโดยสมิงมะราหู ส่วนกองหลังของสมิงชีพรายก็ไปตั้งเสียไกลสมรภูมิ ทำให้กองหน้าแตกพ่ายกลับไป[31]

ข่าวการพ่ายศึกทำให้พระมหาเทวีทรงฉงนพระทัยว่า เหตุใดกองกำลังอันน้อยนิดของพระยาน้อยจึงมีชัยเหนือกองทัพของพระนางได้ จนที่สุดก็ทรงเล็งเห็นถึงการหักหลังจากสมิงชีพราย และทรงตระหนักว่า มิทรงอยู่ในฐานะที่จะตีโต้อีกต่อไป[31] พระนางรับสั่งให้ตกแต่งค่ายคูประตูหอรบเป็นการด่วน ส่วนสมิงชีพรายก็ถวายรายงานการปรับปรุงพระนครนี้ให้พระยาน้อยทรงทราบอย่างต่อเนื่อง[32] เวลานั้น อำนาจของพระมหาเทวีเสื่อมคลายลงมาก ไม่มีผู้ใดเชื่อถือพระเสาวนีย์อีกต่อไป พอพระยาน้อยนำทัพมาถึงกำแพงเมืองพะโคในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1383[note 8] พระมหาเทวีก็มิอาจทรงทำประการใดได้อีก นอกจากประทับหลบภัยอยู่ภายในกำแพงพระนคร[33]

ทหารทั้งสองฝ่ายสู้ยันกันมิรู้แพ้ชนะมาจนวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1384 เมื่อพระยาอู่เสด็จสวรรคต และสมิงมะราหูพยายามแสวงหาผู้สนับสนุนให้ตนขึ้นเสวยราชย์แทน แต่ไร้คนเข้าด้วย สมิงมะราหูจึงพาพระมหาเทวีเสด็จหนีจากพระนคร แต่ก็ไปไม่รอด ถูกจับกุมกลางทาง[34] ฉะนั้น วันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1384[note 9] ราชสำนัก ซึ่งสมิงชีพรายควบคุมไว้ได้นั้น จึงถวายราชบัลลังก์แก่พระยาน้อย วันรุ่งขึ้น พระยาน้อยเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงรับพระนาม "ราชาธิราช"[4] แต่พระยาน้อยตัดสินพระทัยจะไม่ลงโทษทัณฑ์ใด ๆ แก่พระมารดาบุญธรรม พระองค์ทรงตั้งพระมหาเทวีกลับเป็นเจ้าเมืองตะเกิง แต่บทบาทของพระนางหลังจากนี้เป็นไปในทางพิธีการเท่านั้น มิได้มีอำนาจปกครองอย่างแท้จริงเช่นแต่ก่อน[35]

ปลายพระชนม์

[แก้]

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระมหาเทวีทรงพำนักอยู่ ณ เมืองตะเกิง และไม่ทรงมีส่วนในการปกครองของพระเจ้าราชาธิราช แต่ก็ทรงมีโอกาสได้ร่วมเหตุการณ์ในห้วงเจ็ดปีหลังพระเจ้าราชาธิราชเสด็จขึ้นเสวยราชย์ อันได้แก่ การที่พระเจ้าราชาธิราชผนวกแว่นแคว้นแดนมอญทั้งสามเข้าเป็นหนึ่งและต่อต้านการรุกรานของอาณาจักรอังวะจากทางเหนือไว้เป็นผลสำเร็จ[36][37]

พระนางสิ้นพระชนม์ในราว ค.ศ. 1392 อันเป็นปีเดียวกับที่พระนางปิยราชเทวี (Piya Yaza Dewi) มเหสีพระเจ้าราชาธิราช สิ้นพระชนม์ และพระยารามที่ 1 (Binnya Ran I) โอรสพระเจ้าราชาธิราช ประสูติ ครั้น ค.ศ. 1394 พระเจ้าราชาธิราชทรงตั้งพระนามพระธิดาพระองค์ใหม่ว่า "วิหารเทวี" ตามพระนามของพระมหาเทวี สมเด็จป้าผู้มีพระประสูติการเมื่อกว่าเจ็ดสิบปีผ่านมาแล้ว[38]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. (Pan Hla 2005: 92): พระยาน้อยตัดสินพระทัยกบฏก่อนวันแรม 6 ค่ำ เดือน Kason จ.ศ. 745 ตรงกับวันพุธที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1383
  2. (Pan Hla 2005: 94): วันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือน Nayon จ.ศ. 745 ตรงกับวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1383 แต่เมื่อเกิดเหตุ เป็นเวลาของวันรุ่งขึ้น คือ วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม แล้ว
  3. (Pan Hla 2005: 112): วันแรม 6 ค่ำ เดือน Tawthalin จ.ศ. 745 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1383
  4. เป็นวันสิ้นเดือน Tawthalin จ.ศ. 745 ตรงกับวันที่ 27สิงหาคม ค.ศ. 1383
  5. ตาม Pan Hla (2005: 129) พระยาอู่ทรงมอบราชการให้แก่พระพี่นาง ณ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน Nadaw จ.ศ. 745 หรือไม่กี่วันก่อนหน้านี้ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน Nadaw จ.ศ. 745 เป็นวันที่พระมหาเทวีทรงบัญชีให้กองทัพยกจากพระนครไปปราบพระยาน้อย ตรงกับวันพุธที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1383
  6. (Pan Hla 2005: 129): ตาม ราชาธิราช กองทัพทั้งสามมาจากพะโค เมาะตะมะ และมองมะละ ส่วน พงศาวดารปากลัด ว่า กองทัพจากตองอูก็มาด้วย แต่ตามความเห็นของ Sein Lwin Lay (2006: 24–25) ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลานั้น เมืองตองอูไปขึ้นกับอาณาจักรอังวะแล้ว หลังจากที่ Phaungga of Toungoo ขุนศึกฝ่ายอังวะ เข้ายึดใน ค.ศ. 1383 นั้นเอง
  7. (Pan Hla 2005: 154): วันแรม 10 ค่ำ เดือน Nadaw จ.ศ. 745 ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1383
  8. (Pan Hla 2005: 156): พงศาวดารว่า เป็นวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน Pyatho จ.ศ. 745 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1383 แต่น่าจะเป็นวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน Pyatho จ.ศ. 745 ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1383 มากกว่า
  9. (Pan Hla 2005: 356, footnote 1): วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน Tabodwe จ.ศ. 745 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1384

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pan Hla 2005: 39
  2. Pan Hla 2005: 65
  3. 3.0 3.1 Pan Hla 2005: 40
  4. 4.0 4.1 Pan Hla 2005: 161
  5. Pan Hla 2005: 41
  6. Pan Hla 2005: 42–44
  7. Pan Hla 2005: 45
  8. 8.0 8.1 Harvey 1925: 112
  9. Pan Hla 2005: 53
  10. Pan Hla 2005: 54
  11. Pan Hla 2005: 55
  12. Pan Hla 2005: 57
  13. Pan Hla 2005: 58–59
  14. Pan Hla 2005: 62–63, 66
  15. Pan Hla 2005: 67–68
  16. พระราชพงศาวดารรามัญ เรื่อง ราชาธิราช จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บริการ พ.ศ. ๒๔๘๙ บทที่ ๓
  17. 17.0 17.1 Fernquest Spring 2006: 5
  18. Pan Hla 2005: 68–69
  19. Pan Hla 2005: 72
  20. 20.0 20.1 Pan Hla 2005: 81
  21. 21.0 21.1 Pan Hla 2005: 82–83
  22. Pan Hla 2005: 61
  23. 23.0 23.1 23.2 Pan Hla 2005: 64
  24. Pan Hla 2005: 105
  25. Pan Hla 2005: 106, 108
  26. Pan Hla 2005: 122–123
  27. Pan Hla 2005: 125
  28. Pan Hla 2005: 150
  29. Pan Hla 2005: 129
  30. Pan Hla 2005: 145, 147–148
  31. 31.0 31.1 Pan Hla 2005: 154
  32. Pan Hla 2005: 155
  33. Pan Hla 2005: 156
  34. Pan Hla 2005: 157–158
  35. Pan Hla 2005: 164
  36. Harvey 1925: 113–114
  37. Htin Aung 1967: 88
  38. Pan Hla 2005: 368 footnote 1

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Fernquest, Jon (Spring 2006). "Rajadhirat's Mask of Command: Military Leadership in Burma (c. 1348–1421)" (PDF). SBBR. 4 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-01. สืบค้นเมื่อ 2017-12-23.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • Pan Hla, Nai (1968). Razadarit Ayedawbon (ภาษาพม่า) (8th printing, 2005 ed.). Yangon: Armanthit Sarpay.
  • Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  • Sein Lwin Lay, Kahtika U (1968). Min Taya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (ภาษาพม่า) (2006, 2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
{{bottomLinkPreText}} {{bottomLinkText}}
พระมหาเทวีแห่งหงสาวดี
Listen to this article

This browser is not supported by Wikiwand :(
Wikiwand requires a browser with modern capabilities in order to provide you with the best reading experience.
Please download and use one of the following browsers:

This article was just edited, click to reload
This article has been deleted on Wikipedia (Why?)

Back to homepage

Please click Add in the dialog above
Please click Allow in the top-left corner,
then click Install Now in the dialog
Please click Open in the download dialog,
then click Install
Please click the "Downloads" icon in the Safari toolbar, open the first download in the list,
then click Install
{{::$root.activation.text}}

Install Wikiwand

Install on Chrome Install on Firefox
Don't forget to rate us

Tell your friends about Wikiwand!

Gmail Facebook Twitter Link

Enjoying Wikiwand?

Tell your friends and spread the love:
Share on Gmail Share on Facebook Share on Twitter Share on Buffer

Our magic isn't perfect

You can help our automatic cover photo selection by reporting an unsuitable photo.

This photo is visually disturbing This photo is not a good choice

Thank you for helping!


Your input will affect cover photo selection, along with input from other users.

X

Get ready for Wikiwand 2.0 🎉! the new version arrives on September 1st! Don't want to wait?