For faster navigation, this Iframe is preloading the Wikiwand page for ประวัติศาสตร์สเปน.

ประวัติศาสตร์สเปน

โบสถ์ซานตามาริอาเดลนารังโก เมืองโอบิเอโด ภาคเหนือ
อารามหลวงเอลเอสโกเรียล กรุงมาดริด ภาคกลาง
พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ เมืองบาเลนเซีย ภาคตะวันออก
อาลัมบรา เมืองกรานาดา ภาคใต้

ประวัติศาสตร์สเปน เป็นเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับอาณาบริเวณส่วนใหญ่บนคาบสมุทรไอบีเรียซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปใต้ โดยมีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านยุครุ่งเรืองและยุคตกต่ำของจักรวรรดิสเปนอันเป็นจักรวรรดิสากลแห่งแรกของโลกจนกลายมาเป็นราชอาณาจักรสเปนในปัจจุบัน อันเป็นช่วงฟื้นฟูตนเองหลังสมัยการปกครองแบบเผด็จการของฟรันซิสโก ฟรังโก ประวัติศาสตร์การเมืองและการทหารของสเปนมีอยู่หลายช่วงที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายและความพยายามที่จะจัดการกับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และความคิดความเชื่อในดินแดนของตน

มนุษย์สมัยใหม่เริ่มตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียมาเป็นเวลานานกว่า 35,000 ปีมาแล้ว ตามมาด้วยคลื่นผู้รุกรานและผู้ตั้งอาณานิคมชนชาติต่าง ๆ ได้แก่ ชาวเคลต์ ชาวฟินิเชีย ชาวคาร์เทจ และชาวกรีก ตลอดระยะเวลานับพัน ๆ ปี เมื่อถึงประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทั้งคาบสมุทรจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโรมันก่อนจะตกไปอยู่ภายใต้การปกครองจากชาววิซิกอท และใน ค.ศ. 711 ชาวแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นชาวมุสลิม (ชาวมัวร์) ก็เริ่มเข้ามามีอำนาจ ในที่สุดอาณาจักรอิสลามก็ได้รับการสถาปนาขึ้นบนคาบสมุทรแห่งนี้และยืนหยัดได้เป็นเวลาประมาณ 750 ปี ซึ่งพื้นที่ที่ชาวมุสลิมครอบครองนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อัลอันดะลุส แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังเป็นช่วงที่เรียกว่า "เรกองกิสตา" หรือการยึดดินแดนคืนของชาวคริสต์ซึ่งค่อย ๆ รุกลงไปทางใต้ เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดเมื่อชาวคริสต์สามารถพิชิตที่มั่นแห่งสุดท้ายของชาวมุสลิมที่กรานาดาได้ใน ค.ศ. 1492 จากนั้นราชอาณาจักรและรัฐคาทอลิกต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียก็ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนด้วย ซึ่งการรวมกันของอาณาจักรทั้งสองนี้จะนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นของรัฐชาติสเปนในเวลาต่อมา[1]

ค.ศ. 1492 นี้ยังเป็นปีแห่งความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในการค้นพบโลกใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งให้กับสเปน อีกหลายศตวรรษถัดมา สเปนในฐานะเจ้าอาณานิคมได้กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่มีความสำคัญมากสุดในเวทีโลก วรรณกรรมสเปนและศิลปะสเปนได้นำพาเข้าสู่ยุคทองในสมัยใหม่นี้เอง อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สเปนในช่วงนี้ ก็มีจุดด่างพร้อยในเรื่องการขับไล่ชาวยิวและชาวมุสลิม การตั้งศาลไต่สวนทางศาสนา และการปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกา

ภายในอีกไม่กี่ศตวรรษ จักรวรรดิของสเปนในโลกใหม่ก็มีอาณาเขตแผ่ขยายจากแคลิฟอร์เนียไปจรดปาตาโกเนีย ในช่วงนี้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจากออสเตรียได้เข้ามามีอำนาจในราชบัลลังก์สเปน (ตามมาด้วยราชวงศ์บูร์บงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18) ในทวีปยุโรป สเปนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งทั้งในเรื่องลัทธิศาสนาและการแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเองหลายต่อหลายครั้ง คู่สงครามที่สำคัญได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศส ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในลักษณะนี้ทำให้สเปนสูญเสียดินแดนในครอบครองที่ในปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลีไป นอกจากนี้ ผลเสียจากสงครามเหล่านั้นก็ทำให้สเปนต้องตกอยู่ในสภาวะล้มละลายอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไป อำนาจและเกียรติภูมิของจักรวรรดิก็เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 การถูกฝรั่งเศสเข้ารุกราน การเรียกร้องเอกราชของดินแดนอาณานิคม และความพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับสหรัฐก็ทำให้สเปนเสียอาณานิคมของตนไปเกือบทั้งหมด

ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มความซับซ้อนและความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นำสเปนไปสู่การนองเลือดใน สงครามกลางเมืองซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายชาตินิยมที่มีฟรันซิสโก ฟรังโก เป็นผู้นำสูงสุด สภาพบ้านเมืองโดยทั่วไปในช่วงนี้จึงค่อนข้างสงบและมีความมั่นคง (ยกเว้นการก่อวินาศกรรมของขบวนการเรียกร้องเอกราชในแคว้นประเทศบาสก์) สเปนประกาศตนเป็นกลางตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงแม้จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษ 1970 แต่ก็ต้องถูกโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมและการเมืองจากประชาคมโลก ฟรังโกปกครองประเทศในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ. 1975 การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงเริ่มขึ้น ประเทศสเปนในช่วงเวลาปัจจุบันนี้มีพัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและทันสมัย แม้จะมีความตึงเครียดหลงเหลืออยู่ก็ตาม (เช่นกรณีผู้อพยพชาวมุสลิมและในแคว้นประเทศบาสก์) โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพเติบโตเร็วที่สุดในยุโรป เหตุการณ์สำคัญในยุคร่วมสมัยของสเปน ได้แก่ การเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปและการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และเหตุการณ์สละราชสมบัติของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 อันนำไปสู่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ใน ค.ศ. 2014

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

[แก้]
เพดานถ้ำอัลตามิรา

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในคาบสมุทรไอบีเรียย้อนไปได้ถึงประมาณ 8 แสนปีมาแล้ว[2] หลังจากการค้นพบซากของมนุษย์โฮโมแอนเทเซสเซอร์ในแหล่งโบราณคดีที่กรันโดลินา ("หลุมยุบขนาดใหญ่") ในทิวเขาอาตาปูเอร์กา จังหวัดบูร์โกส แคว้นกัสติยาและเลออน[2][3][4]

ในช่วงยุคหินเก่าตอนกลาง (3 แสนปี–3 หมื่นปีมาแล้ว) ได้เกิดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล มีการค้นพบกะโหลกมนุษย์กลุ่มนี้อายุประมาณ 6 หมื่นปีมาแล้วที่ยิบรอลตาร์[2] รวมทั้งมีการค้นภาพเขียนบนผนังในถ้ำลาร์เบรดาซึ่งเขียนขึ้นในยุคนี้ที่แคว้นกาตาลุญญา และเมื่อประมาณ 16,000 ปีมาแล้ว (ซึ่งอยู่ในช่วงยุคหินเก่าตอนปลาย) วัฒนธรรมลามาดแลนก็ได้กำเนิดขึ้นในแถบแคว้นอัสตูเรียส แคว้นกันตาเบรีย[2] และแคว้นประเทศบาสก์ปัจจุบัน สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณดังกล่าวคือ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงในถ้ำอัลตามิรา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของศิลปะถ้ำ[5]

มนุษย์โฮโมเซเปียนส์รุ่นแรก (เช่น โคร-มาญง) ปรากฏขึ้นตั้งแต่ 15,000 ปีมาแล้ว ส่วนมนุษย์สองกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นก่อนนั้นก็เริ่มสูญพันธุ์ไป จนเมื่อ 3,700 ปีมาแล้ว คาบสมุทรไอบีเรียก็เริ่มเข้าสู่ยุคหินกลาง มนุษย์สมัยนี้รู้จักการทำเกษตรกรรมมากขึ้น ส่วนวิถีชีวิตที่เร่ร่อนของชนเผ่าค่อย ๆ ลดลงเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปถึงประมาณ 3,000 ปี–2,500 ปีมาแล้ว จึงปรากฏชุมชนที่มีวัฒนธรรมแบบยุคโลหะ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่วัฒนธรรมแก้วทรงระฆังได้เกิดขึ้นและเจริญต่อมาในช่วงปลายยุคทองแดงต่อต้นยุคสำริด[6]

แก้วดินเผาทรงระฆัง พบที่เมืองซิเอมโปซูเอโลส แคว้นมาดริด

ความก้าวหน้าของมนุษย์ในยุคสำริดตอนกลางที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในวัฒนธรรมเอลอาร์การ์ในแถบจังหวัดอัลเมริอาปัจจุบัน[7] มีการฝังศพในหม้อขนาดใหญ่[6] และฝังศพเป็นกลุ่ม ตามชุมชนอื่น ๆ ในไอบีเรียก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้สำริดในเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่นกัน เช่น ขวาน ดาบ กำไล ซึ่งบางครั้งอาจใส่ไปกับศพด้วย ส่วนทางแถบลามันชามีการสร้างเนินเขาเล็ก ๆ ซึ่งบนสุดจะเป็นชุมชนที่มีป้อมปราการล้อมรอบอยู่ ลักษณะนี้เรียกว่าโมติยา ชุมชนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับชุมชนยุคสำริดแถบชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร (หรือเรียกว่า "ลิแวนต์") เนื่องจากมีวัฒนธรรมการใช้โลหะเหมือนกัน[6] วัฒนธรรมโมติยาดำรงอยู่ประมาณ 200–300 ปีจนกระทั่งถูกละทิ้งไปเมื่อ 1,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช[7] ซึ่งร่วมสมัยเดียวกับการสิ้นสุดของวัฒนธรรมเอลอาร์การ์ จากนั้นเมื่อประมาณ 1,000 ปี หรือ 700 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งอยู่ในยุคสำริดตอนปลาย อารยธรรมตาร์แตสโซสในหุบเขากัวดัลกิบีร์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรก็เกิดขึ้น

ในยุคเหล็ก การแบ่งแยกในสังคมเริ่มเห็นได้ชัดขึ้น ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของตำแหน่งผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้ดีขี่ม้า เป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นตัวแทนการมาถึงของกระแสวัฒนธรรมจากภายนอก เนื่องจากชาวเคลต์จากตอนกลางของทวีปยุโรปได้เริ่มอพยพเข้ามาในยุคนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีชาวฟินิเชียและชาวกรีกเข้ามาติดต่อค้าขายกับผู้คนในดินแดนตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนแล้วในช่วงนั้น[8]

การมาถึงของชนกลุ่มต่าง ๆ (1,000 ปีก่อน ค.ศ.)

[แก้]
หลุมศพในหมู่บ้านชาวไอบีเรีย (โบราณ) แห่งหนึ่งใกล้เมืองอาไซลา จังหวัดเตรูเอล แคว้นอารากอน

ชาวเคลต์มาถึงคาบสมุทรในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[8] พวกเขาเข้าครอบครองอาณาเขตซึ่งปัจจุบันเป็นแคว้นกาลิเซีย แคว้นอัสตูเรียส แคว้นกันตาเบรีย แคว้นประเทศบาสก์ ตอนเหนือของแคว้นกัสติยาและเลออน และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศโปรตุเกส ภายหลังก็กลายเป็นชนกลุ่มหลักของคาบสมุทรไอบีเรีย

ทางด้านชายฝั่งลิแวนต์ก็เริ่มมีชาวฟินิเชียเข้ามาครั้งแรกเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเริ่มตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ประมาณ 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช และต่อมาก็ลงไปทางตอนใต้ของคาบสมุทร ตั้งเมืองกาดีร์[8] มาลากา และอับเดรา (เมืองอาดราในจังหวัดอัลเมริอาปัจจุบัน) รวมทั้งยังตั้งนิคมการค้าอีกหลายแห่งขึ้นริมฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน

ส่วนชาวกรีกก็เข้ามาในไอบีเรียเช่นกันดังกล่าวแล้ว แต่จะขึ้นไปตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณที่เป็นแคว้นกาตาลุญญาปัจจุบัน เช่นที่โรแด (รอซัส) และเอ็มโปริโอน (อัมปูริอัส) พวกเขาได้พบกับชาวไอบีเรียซึ่งเป็นชนพื้นเมืองหลักอีกกลุ่มหนึ่งนอกจากชาวเคลต์ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาวกรีกที่กล่าวถึงชนกลุ่มนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช[9] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อารยธรรมของชาวตาร์แตสโซสทางภาคใต้ซึ่งสันนิษฐานว่าเจริญขึ้นมาตั้งแต่ยุคสำริดตอนปลายได้สูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด[10]

จากนั้น บริเวณตอนในของคาบสมุทร (ที่ราบสูงเมเซตา) เช่น ที่นูมันติอา (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดโซเรีย แคว้นกัสติยาและเลออน) เป็นที่ที่ชาวเคลต์จากภาคตะวันตกเฉียงเหนือและชาวไอบีเรียจากภาคตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาติดต่อและอยู่ร่วมกัน และได้เกิดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแบบผสมและเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ ชาวเคลติเบเรียน[11]

การพิชิตของชาวคาร์เทจและชาวโรม (300 ปีก่อน ค.ศ.)

[แก้]
อาณาเขตของคาร์เทจ (สีม่วง) และโรม (สีชมพู) ในปี 218 ก่อนคริสต์ศักราช (ก่อนเกิดสงครามพิวนิกครั้งที่ 2)

ในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวคาร์เทจได้เริ่มเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียและตั้งเมืองการ์ทาโกโนวา (ปัจจุบันคือเมืองการ์ตาเฆนา) ขึ้นริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาเมืองนี้ได้กลายเป็นฐานที่มั่นทางทะเลที่สำคัญที่สุดของชนกลุ่มนี้[12] ภายในเวลาอันรวดเร็ว ในที่สุดคาร์เทจและโรมก็เกิดความขัดแย้งและสู้รบกันในสงครามพิวนิกถึงสามครั้ง เหตุผลหลักมาจากทั้งสองฝ่ายต่างต้องการมีอำนาจเหนือดินแดนในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากร หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามพิวนิกครั้งที่ 1 ซึ่งกินเวลาถึง 23 ปี[13] ชาวคาร์เทจก็หันมาขยายอำนาจทางคาบสมุทรไอบีเรียนี้ เพื่อทดแทนกับการสูญเสียเกาะซิซิลี[14] เกาะซาร์ดิเนีย และเกาะคอร์ซิกาไป

ฮามิลการ์ บาร์กา, ฮันนิบาล และนายพลของคาร์เทจคนอื่น ๆ เข้ามาครอบครองอาณานิคมเดิมของชาวฟินิเชียที่อยู่ตามชายฝั่งของอันดาลูซิอาและลิแวนต์เข้าไว้ในอำนาจ หลังจากนั้นก็ดำเนินการยึดครองและขยายเขตอิทธิพลเหนือชนพื้นเมืองออกไป เมื่อถึงตอนปลายศตวรรษเดียวกัน เมืองและหมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งแต่แม่น้ำเอโบร[15] และแม่น้ำโดรูลงมา รวมไปถึงหมู่เกาะแบลีแอริกต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคาร์เทจทั้งสิ้น ฮันนิบาลได้เป็นผู้นำคาร์เทจในการต่อต้านโรมโดยใช้คาบสมุทรไอบีเรียเป็นฐานปฏิบัติการ รวมทั้งนำชนพื้นเมืองมาเป็นกำลังในกองทัพของเขา

จนกระทั่งในปี 219 ก่อนคริสต์ศักราช ฮันนิบาลนำทัพคาร์เทจเข้าโจมตีเมืองซากุนโตซึ่งเป็นอาณานิคมการค้าของกรีกและเป็นพันธมิตรกับโรม[16] จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามพิวนิกครั้งที่ 2[13][17] ที่กินเวลา 17 ปี[13] ในสงครามครั้งนี้ ทหารคาร์เทจสามารถรุกข้ามเทือกเขาพิเรนีสและเทือกเขาแอลป์เข้าสู่คาบสมุทรอิตาลีได้สำเร็จ (โดยนำม้าและช้างจำนวนมากเข้าช่วยในการรบ)[18][19] แต่สงครามก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้อีกครั้งของคาร์เทจ โดยเหลือเพียงเมืองของตนริมชายฝั่งแอฟริกาเหนือเท่านั้นที่ยังอยู่ในอำนาจ ส่วนคาบสมุทรไอบีเรียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน เริ่มต้นสมัยของฮิสปานิอาในดินแดนแห่งนี้

ฮิสปานิอาสมัยโรมัน (300 ปี ก่อน ค.ศ.–คริสต์ศตวรรษที่ 5)

[แก้]
ท่อส่งน้ำที่เมืองเซโกเบีย งานสาธารณูปโภคที่สำคัญของสเปนยุคโรมัน (ฮิสปานิอา)

หลังสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 (218–201 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[13] ถือได้ว่าคาบสมุทรไอบีเรียเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อำนาจของโรม หลังจากที่ขับไล่ชาวคาร์เทจออกไปแล้ว การเข้าครอบครองดินแดนก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เหลือเพียงแต่เมืองทางตอนใน (นูมันติอา) และเมืองแถบอัสตูเรียสและกันตาเบรียบางแห่งเท่านั้นที่ยังคงต้านกำลังของโรมไว้ได้

ในปีที่ 197 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันได้แบ่งดินแดนไอบีเรียออกเป็น 2 ส่วน[20][21] คือ ฮิสปานิอากิแตริออร์และฮิสปานิอาอุลแตริออร์ พัฒนาเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้วในบริเวณนี้ เช่น ออลิซีโปและตาร์ราโก รวมทั้งสร้างเมืองไกซาเรากุสตา เอแมริตาเอากุสตา และวาแล็นติอา เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ฮิสปานิอากลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นแหล่งโลหะที่สำคัญของโรมัน เมืองท่าต่าง ๆ ในดินแดนนี้ได้ส่งออกทอง[22] ดีบุก เงิน[22] ตะกั่ว ไม้[22] ข้าวสาลี น้ำมันมะกอก[22] ไวน์[22] ปลา และการูง[22] (น้ำปลาชนิดหนึ่ง) ไปสู่ตลาดโรมัน

กระบวนการทำให้เป็นโรมันนั้นเริ่มขึ้นในฮิสปานิอาเมื่อประมาณ 110 ปีก่อนคริสต์ศักราช (เรื่อยไปจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 3) มรดกที่โรมันได้ทิ้งไว้ให้เป็นรากฐานของอารยธรรมสเปนได้แก่ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม กฎหมาย รวมทั้งสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน ท่อส่งน้ำ โรงละคร ระบบชลประทาน เป็นต้น ชาวฮิสปานิอาและผู้สืบเชื้อสายจากทหารโรมันหรือผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโรมันในฮิสปานิอาเกือบทั้งหมดได้รับสถานะเป็นพลเมืองโรมันเมื่อถึงปีที่ 73 ก่อนคริสต์ศักราช[23] จักรพรรดิตรายานุส จักรพรรดิฮาดริอานุส และจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1 ต่างก็ประสูติในฮิสปานิอา[22][24] รวมทั้งจักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส ก็ทรงมีเชื้อสายฮิสปานิอาเช่นกัน[25]

เขตการปกครองในฮิสปานิอาสมัยแรกเริ่มของจักรวรรดิโรมัน (หลังสงครามกันตาเบรีย)

เมื่อสิ้นสุดสงครามกันตาเบรียในปีที่ 19 ก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดิโรมันที่มีจักรพรรดิเอากุสตุสเป็นผู้นำก็สามารถเอาชนะชนพื้นเมืองและครอบครองดินแดนไอบีเรียทั้งหมดได้สำเร็จ[26] หลังจากพยายามอยู่นานถึง 200 ปี จากนั้นได้แบ่งเขตการปกครองใหม่ออกเป็น 3 มณฑล[27] ได้แก่

โรมันมีอำนาจครอบครองฮิสปานิอามาจนถึงช่วงที่จักรวรรดิฝั่งตะวันตกล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เมื่อทางศูนย์กลางของจักรวรรดิไม่สามารถแบ่งสรรกำลังทหารมาปกป้องดินแดนของตนได้อีกต่อไป ชาวฮิสปานิอาก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครองใหม่ นั่นคือ อนารยชนเผ่าเยอรมันกลุ่มต่าง ๆ ที่มาจากยุโรปกลาง

ฮิสปานิอาสมัยวิซิกอท (คริสต์ศตวรรษที่ 5–8)

[แก้]
ราชอาณาจักรวิซิกอทในค.ศ. 500

ในคริสต์ศตวรรษที่ 4–5 ชาวฮันซึ่งมาจากเอเชียกลางได้เข้าโจมตีและผลักดันชนเผ่าเยอรมันให้เข้ามาในเขตแดนของจักรวรรดิโรมัน ชนเผ่าเหล่านี้ได้สร้างความวุ่นวายและก่อสงครามกับโรมันตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้จักรวรรดิค่อย ๆ อ่อนแอลง แต่ในช่วงเดียวกันก็เกิดกระบวนการทำทุกอย่างให้เป็นโรมันขึ้นในหมู่ชนเผ่าเยอรมันและชนเผ่าฮั่นตามแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบซึ่งเป็นพรมแดน เผ่าเยอรมันกลุ่มวิซิกอทได้หันมานับถือลัทธิเอเรียสเมื่อประมาณ ค.ศ. 360

ในฤดูหนาวของ ค.ศ. 406 ชาวแวนดัล ชาวซูเอบี และชาวอาลันได้ใช้โอกาสขณะที่น้ำในแม่น้ำไรน์มีสภาพเป็นน้ำแข็งเข้ารุกรานจักรวรรดิโดยใช้กำลังจำนวนมาก และอีก 3 ปีถัดมา (ค.ศ. 409) อนารยชนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ได้ข้ามเทือกเขาพิรินีเข้าสู่ดินแดนคาบสมุทรไอบีเรีย[28][29] และตกลงกันเพื่อแบ่งพื้นที่ปกครองทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของคาบสมุทร

ส่วนชาววิซิกอทนั้นสามารถพิชิตโรมได้ใน ค.ศ. 410[30] จากนั้นได้อพยพเข้ามาในกอล (ประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) และได้กลับไปช่วยเหลือกองทัพของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในการขับไล่ชาวอาลันและชาวแวนดัลให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา[30][31] (โดยไม่ได้ทิ้งมรดกอะไรไว้ในวัฒนธรรมของสเปนมากนัก) จักรพรรดิฮอโนริอุสจึงทรงยกมณฑลกัลลิอาอากวีตานิอา (ปัจจุบันคือภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส) ให้ชาววิซิกอทจัดตั้งอาณาจักรของตนขึ้นที่ตูลูซ จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายลงเมื่อ ค.ศ. 476 ราชอาณาจักรวิซิกอทจึงมีอิสระอย่างเต็มที่

อาณาจักรของชาวซูเอบีและอาณาจักรของชาววิซิกอทในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6

ต่อมาใน ค.ศ. 507 วิซิกอทต้องสูญเสียอำนาจในกอลตอนใต้ให้กับชาวแฟรงก์ซึ่งเป็นเผ่าเยอรมันอีกกลุ่มหนึ่ง เหลือเพียงดินแดนเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่บาร์เซโลนา และย้ายไปที่โตเลโดทางภาคกลางของคาบสมุทรไอบีเรีย พร้อม ๆ กับเริ่มขยายอำนาจของตนออกไป พระเจ้าลีอูวีกิลด์เป็นกษัตริย์ชาววิซิกอทที่สำคัญที่สุด[32] ในสมัยของพระองค์ ชาววิซิกอทสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ (กันตาเบรียและประเทศบาสก์) ได้ใน ค.ศ. 574 และพิชิตอาณาจักรของชาวซูเอบีทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (กาลิเซีย) ได้เมื่อปี ค.ศ. 584[33] นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าซูอินตีลา วิซิกอทยังได้ดินแดนทางภาคใต้ซึ่งเคยเสียให้กับจักรวรรดิไบแซนไทน์กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 624

ชาววิซิกอทมักจะรักษาสถาบันและกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมันไว้ ความใกล้ชิดของราชอาณาจักรวิซิกอทกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและความต่อเนื่องของการค้าในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกนั้นเป็นตัวสนับสนุนวัฒนธรรมของชาววิซิกอทเอง แต่ในระยะแรกชาววิซิกอทจะไม่ข้องเกี่ยวกับชนพื้นเมือง[34] (ซึ่งอยู่มาก่อนและมีจำนวนมากกว่า) โดยแยกตัวออกไปอยู่ในเขตชนบทและนำระบบฟิวดัลรูปแบบหนึ่งเข้าไปใช้ ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนั่นคือการลดลงของจำนวนประชากรในเขตเมือง[34] รวมทั้งทำให้ภาษาของชาววิซิกอทส่งอิทธิพลต่อภาษาของคาบสมุทรไอบีเรียในปัจจุบันน้อยมาก[34][35]

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมในอาณาจักรวิซิกอทไม่รวมเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกันคือ ชาวฮิสปานิอานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ชาววิซิกอทยังคงนับถือลัทธิเอเรียส จนกระทั่งใน ค.ศ. 587 พระเจ้าเรกคาเรดที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสพระองค์รองของพระเจ้าลีอูวีกิลด์ รวมทั้งชาววิซิกอทส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปนับถือคาทอลิก[36] และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับชาวฮิสปานิอา ทำให้พระคาทอลิกมีอำนาจมากขึ้นและหลังจากการประชุมสภาแห่งโตเลโดครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 633 สภาสงฆ์ได้ประกาศว่า ชาวยิวทุกคนต้องเข้าพิธีล้างบาป

เนื่องจากตำแหน่งกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรนั้นส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกจากชนชั้นสูงไม่ใช่การสืบราชสันตติวงศ์ ปัญหาการแย่งชิงราชบัลลังก์จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความอ่อนแอของราชอาณาจักร หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวิตตีซาใน ค.ศ. 709 ชนชั้นสูงได้เลือกโรเดอริก ดุ๊กแห่งไบติกาขึ้นเป็นกษัตริย์ โรเดอริกมีชัยชนะในการทำสงครามกับโอรสของพระเจ้าวิตตีซา (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร แต่สันนิษฐานว่าคืออากีลา) ซึ่งอ้างสิทธิ์ในการปกครองอาณาจักรเช่นกัน โอรสของพระเจ้าวิตตีซาพร้อมพรรคพวกจึงหนีไปที่เมืองเซวตา ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของแอฟริกา และได้รวมกลุ่มกับชาวยิวและผู้นับถือลัทธิเอเรียส (ซึ่งอพยพมาหลังจากถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา) ไปขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรของชาวมุสลิมซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ที่ตะวันออกกลางเพื่อต่อต้านกำลังของพระเจ้าโรเดอริก ด้วยเหตุนี้ฮิสปานิอาจึงต้องเผชิญกับการรุกรานระลอกใหม่อีกครั้ง

การยึดครองของชาวมุสลิมและการพิชิตดินแดนคืน (คริสต์ศตวรรษที่ 8–15)

[แก้]
เมซกิตาแห่งกอร์โดบา ในสมัยมุสลิมเคยเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่ปัจจุบันเป็นอาสนวิหารในศาสนาคริสต์

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวอาหรับและชาวเบอร์เบอร์ซึ่งปกครองตอนเหนือของแอฟริกาอยู่ในขณะนั้น (เรียกว่าชาวมัวร์) ได้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ก่อนแล้ว และได้ส่งฏอริก อิบน์ ซิยาด นายพลชาวเบอร์เบอร์เข้ามาแทรกแซงสงครามกลางเมืองในฮิสปานิอา โดยบุกเข้ามาทางภาคใต้ จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 711 ก็ได้เผชิญหน้ากับกองทัพของพระเจ้าโรเดอริกในยุทธการที่แม่น้ำกัวดาเลเต แม้ฏอริกจะมีกำลังทหารน้อยกว่าก็ตามแต่ก็ได้รับชัยชนะ ณ ที่นั้น (เชื่อกันว่าพระเจ้าโรเดอริกสิ้นพระชนม์ในที่รบ) [37]จากนั้น มูซา อิบน์ นุศ็อยร์ ผู้บังคับบัญชาของฏอริกพร้อมกำลังสนับสนุนได้ข้ามจากแอฟริกาเข้ารุกรานฮิสปานิอาอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเมื่อ ค.ศ. 718 ชาวมุสลิมก็มีอำนาจครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทร (เรียกชื่อดินแดนฮิสปานิอาส่วนที่ชาวมุสลิมครอบครองว่า "อัลอันดะลุส") เหลือเพียงอาณาจักรคริสต์ที่อัสตูเรียส กันตาเบรีย และประเทศบาสก์ซึ่งต้านกำลังมุสลิมไว้ได้และเริ่มการพิชิตดินแดนคืน (เรกองกิสตา) หลังมีชัยในยุทธการที่หมู่บ้านโกบาดองกาเมื่อ ค.ศ. 722 นอกจากนี้ การรุกคืบในยุโรปก็ถูกชาวแฟรงก์ภายใต้การนำทัพของชาร์ล มาร์แตล สกัดกั้นไว้ได้ในยุทธการที่เมืองปัวตีเย เดือนตุลาคม ค.ศ. 732[38]

ผู้ปกครองของอัลอันดะลุสมีตำแหน่งอยู่ระดับเอมีร์ โดยขึ้นกับกาหลิบอัลวะลีดที่ 1 แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่กรุงดามัสกัส พระองค์ทรงให้ความสนใจกับการขยายกำลังทางทหารอย่างมาก ทรงสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในสมัยของราชวงศ์นี้ ซึ่งเป็นกลวิธีที่สนับสนุนการขยายอิทธิพลในฮิสปานิอานั่นเอง ขุนนางท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ครอบครองทรัพย์สินและสถานะทางสังคมของตนไว้ตราบเท่าที่ยังยอมรับศาสนาอิสลาม และการเปลี่ยนผู้ปกครองไม่ได้รบกวนกิจประจำวันของพวกเขามากนัก เขตการปกครองย่อยตามพื้นที่ต่าง ๆ ยังเป็นเช่นเดิม แต่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นจะตกเป็นของชาวมุสลิมอาหรับ ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมถูกบังคับให้ยอมรับกฎหมายไม่เป็นธรรมซึ่งส่งเสริมสถานะของศาสนาอิสลามให้อยู่เหนือศาสนาคริสต์และศาสนายิวในสังคม จึงมีชาวคริสต์จำนวนหนึ่งในอัลอันดะลุสเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามโดยหวังจะได้รับสิทธิในสังคมเท่าเทียมกับชาวมุสลิม เช่น จ่ายภาษีน้อยลง หรือไม่ต้องเป็นทาสหรือข้าติดที่ดินอีกต่อไป เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "มูลาดี"

หลังจากนั้นใน ค.ศ. 750 ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกราชวงศ์อับบาซียะฮ์จากกรุงแบกแดดขับออกจากอำนาจ กลุ่มผู้นำที่หลงเหลืออยู่ซึ่งมีเจ้าชายอับดุรเราะห์มานเป็นผู้นำได้หลบหนีมาที่ไอบีเรียและท้าทายอำนาจของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ด้วยการประกาศให้กอร์โดบาเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ อัลอันดะลุสจึงประสบความขัดแย้งทั้งภายในหมู่ชาวอาหรับด้วยกันเองและกับชาววิซิกอท-โรมัน (ชาวคริสต์) ที่ยังอาศัยอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย กองทัพเรือกองแรกของอัลอันดะลุสได้รับการจัดตั้งขึ้นหลังจากที่ชาวไวกิงล่องเข้ามาถึงแม่น้ำกัวดัลกิบีร์และปล้นเมืองเซบิยาเมื่อ ค.ศ. 844[39]

ล่วงมาถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 10 เจ้าชายอับดุรเราะห์มานที่ 3 ก็ได้จัดตั้งอาณาจักรกาหลิบแห่งกอร์โดบาขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดสัมพันธ์กับกาหลิบแห่งแบกแดดอย่างสิ้นเชิง กอร์โดบาพยายามรักษาฐานกำลังในแอฟริกาเหนือไว้ แต่ในที่สุดก็เหลือเพียงดินแดนบริเวณรอบ ๆ เซวตาเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ชาวคริสต์ก็เริ่มอพยพเข้าไปสู่ภาคเหนือของคาบสมุทรอย่างช้า ๆ นับเป็นการเพิ่มกำลังให้กับบรรดาอาณาจักรคริสต์ [เช่น เคาน์ตีกัสติยา ราชอาณาจักรเลออน (อัสตูเรียสเดิม) และราชอาณาจักรนาวาร์ (บาสก์เดิม)] ยิ่งขึ้นด้วย แต่ถึงกระนั้น อัลอันดะลุสก็ยังคงมีฐานะเหนือกว่าอาณาจักรคริสต์เหล่านั้นอยู่มากทั้งในด้านประชากร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และกำลังทหาร รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรคริสต์เองก็ทำให้อัลอันดะลุสยังปลอดภัยอยู่บ้าง

อาณาจักรมุสลิมในไอบีเรียกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งประมาณ ค.ศ. 1000 เมื่ออัลมันศูรพิชิตบาร์เซโลนาได้เมื่อ ค.ศ. 985[40] และต่อมาเมืองคริสต์อื่น ๆ ก็ถูกชาวมุสลิมเข้าจู่โจมอีกหลายครั้ง[41] แต่หลังจากสมัยของโอรสของอัลมันศูรไป ก็เกิดสงครามกลางเมือง จนทำให้ใน ค.ศ. 1031[42] อาณาจักรกาหลิบแห่งนี้ต้องแตกออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ กว่า 40 แห่งซึ่งเรียกว่าฏออิฟะฮ์ ผู้ปกครองของแต่ละอาณาจักรนี้ก็แข่งขันกันเองไม่เพียงแต่ในการสงครามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปกป้องคุ้มครองศิลปะอีกด้วย ทำให้วัฒนธรรมมุสลิมรุ่งเรืองขึ้นอีกในช่วงสั้น ๆ

เขตแดนของราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนใน ค.ศ. 1210

อย่างไรก็ตาม ฏออิฟะฮ์แต่ละแห่งค่อย ๆ สูญเสียดินแดนให้แก่ราชอาณาจักรคริสต์ทางเหนือ เอมีร์หรือผู้ปกครองชาวมุสลิมของฏออิฟะฮ์จึงไปขอความช่วยเหลือจากดินแดนภายนอกถึง 2 ครั้ง คือ จากราชวงศ์อัลมุรอบิฏูน หลังจากที่เสียโตเลโดไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1085[43] และจากราชวงศ์อัลมุวะห์ฮิดูน (ซึ่งมีอำนาจขึ้นมาแทนที่ราชวงศ์อัลมุรอบิฏูน) หลังจากเสียลิสบอนไปเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1147[44] อันที่จริงนักรบเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียเพราะต้องการช่วยเหลือบรรดาเอมีร์ แต่ต้องการผนวกอาณาจักรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของตนในแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ

เมื่อกลุ่มของราชวงศ์อัลมุวะห์ฮิดูนได้ครอบครองชายฝั่งแอฟริกาเหนือและอัลอันดะลุสซึ่งเคยเป็นของราชวงศ์อัลมุรอบิฏูนแล้ว ได้ย้ายศูนย์กลางของอัลอันดะลุสจากกอร์โดบาไปอยู่ที่เซบิยาใน ค.ศ. 1170[45] และจัดการกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในดินแดนของตนอย่างรุนแรง เมื่อต้องเลือกว่าจะตายหรือจะยอมเปลี่ยนศาสนา ชาวยิวและชาวคริสต์จำนวนมากจึงตัดสินใจอพยพออกไปจากอัลอันดะลุส[46] บางส่วนหนีขึ้นเหนือเพื่อไปตั้งหลักในอาณาจักรคริสต์ซึ่งก็เริ่มมีชัยชนะในดินแดนทางใต้มากขึ้นในขณะที่จักรวรรดิอัลมุวะห์ฮิดูนไม่ได้ต่อต้านอย่างสม่ำเสมอ ในการรบครั้งสำคัญที่หมู่บ้านลัสนาบัสเดโตโลซา ค.ศ. 1212[47] กองทัพอัลมุวะห์ฮิดูนได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพชาวคริสต์ซึ่งเป็นพันธมิตรระหว่างราชอาณาจักรกัสติยา นาวาร์ อารากอน เลออน[47] และโปรตุเกส จนกระทั่งเมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวมุสลิมก็เสียกอร์โดบาและเซบิยาไป เหลือกรานาดาซึ่งปกครองโดยราชวงศ์นัศร์เป็นที่มั่นเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย

ราชอาณาจักรสเปน

[แก้]
อาณาจักรต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียประมาณ ค.ศ. 1360

ในขณะที่การยึดดินแดนคืนกำลังดำเนินอยู่นั้น ราชรัฐและราชอาณาจักรคริสต์ทางตอนเหนือก็พัฒนาขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อาณาจักรที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาอาณาจักรคริสต์เหล่านี้ได้แก่ ราชอาณาจักรกัสติยา (ครอบครองตอนกลางและตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย) และราชอาณาจักรอารากอน (ครอบครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทร) กษัตริย์ผู้ปกครองของอาณาจักรทั้งสองนี้เป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ในโปรตุเกส (ซึ่งประกาศแยกตัวจากอาณาจักรกัสติยาและเลออนไปเป็นอิสระตั้งแต่ ค.ศ. 1129) ฝรั่งเศส และอาณาจักรใกล้เคียงอื่น ๆ บ่อยครั้งจะมีการอภิเษกสมรสระหว่างพระโอรสกับพระธิดาจากราชวงศ์ของอาณาจักรเหล่านี้ ทำให้ดินแดนที่ราชวงศ์เหล่านั้นปกครองได้เข้ามารวมกันอยู่เป็นอาณาจักรเดียว แต่ก็อาจจะแยกออกจากกันภายหลังได้เช่นกัน หากผู้ปกครองอาณาจักรนั้นสิ้นพระชนม์ลงและมีการแบ่งดินแดนให้พระโอรสและพระธิดาพระองค์ต่าง ๆ ปกครอง

แม้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (ชาวยิวและชาวมุสลิม) จะได้รับการยอมรับให้อยู่ร่วมกันกับชาวคริสต์ในกัสติยาและอารากอน (ซึ่งเป็นอาณาจักรคริสต์เพียงสองแห่งที่ชาวยิวไม่ถูกจำกัดการประกอบอาชีพ) ก็ตาม แต่สถานการณ์ของชาวยิวก็เริ่มแย่ลงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และถึงจุดร้ายแรงเมื่อ ค.ศ. 1391[48][49] ซึ่งมีการสังหารหมู่ชาวยิวเกิดขึ้นแทบทุกเมืองใหญ่ เช่น เซบิยา โตเลโด บาเลนเซีย บาร์เซโลนา และโลกรอญโญ[48] เมื่อถึงศตวรรษต่อมา ครึ่งหนึ่งจากจำนวนชาวยิวในสเปนประมาณ 200,000 คนได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์แล้ว เรียกว่าคนกลุ่มนี้ว่า "กอนเบร์โซ"

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเอนริเกที่ 4 ใน ค.ศ. 1474 ทำให้ราชบัลลังก์กัสติยาว่างลงเนื่องจากไม่มีรัชทายาท เกิดความขัดแย้งในการการอ้างสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ระหว่างฝ่ายของเจ้าหญิงฆัวนาลาเบลตราเนฆาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโปรตุเกสและฝรั่งเศส กับฝ่ายของเจ้าหญิงอิซาเบลที่ได้รับการสนับสนุนจากอารากอนและชนชั้นสูงของกัสติยา จนกระทั่งหลังจากสงครามการสืบราชบัลลังก์กัสติยาสิ้นสุดลง อิซาเบลก็ได้ขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนาม "สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา" และทรงปกครองอาณาจักรร่วมกับพระราชสวามี (ซึ่งทรงอภิเษกสมรสกันตั้งแต่ ค.ศ. 1469 ที่เมืองบายาโดลิด) คือ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 5 แห่งกัสติยา ต่อมาใน ค.ศ. 1479 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 5 ได้ทรงขึ้นครองอาณาจักรอารากอนต่อจากพระเจ้าชวนที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดาด้วย และเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 แห่งอารากอน" การอภิเษกสมรสและครองราชย์ร่วมกันครั้งนี้ได้ทำให้ราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนเข้ามารวมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเป็นราชอาณาจักรสเปนในเวลาต่อมา[50]

พระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 (ซ้าย) และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบล (ขวา)

หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลและพระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 ทรงยึดเมืองกรานาดาคืนจากชาวมุสลิมได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1492 (ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการพิชิตดินแดนคืน) ก็ทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม "พระมหากษัตริย์คาทอลิก" ซึ่งเป็นสมญานามที่ทรงได้รับจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 นอกจากนี้ ในสมัยของพระองค์ทั้งสอง กัสติยาและอารากอนยังได้รับกรรมสิทธิ์ในการครอบครองกานาเรียสในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทั้งสองทรงอนุมัติและสนับสนุนการสำรวจดินแดนของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ไปถึงโลกใหม่ (หากไม่นับเลฟ เอริกสัน) ซึ่งจะนำความมั่งคั่งเข้ามาสู่สเปนและเป็นทุนให้รัฐใหม่แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของยุโรปในอีกสองศตวรรษถัดมา

ใน ค.ศ. 1492 กษัตริย์คาทอลิกทั้งสองพระองค์ได้ทรงดำเนินการขั้นสุดท้ายกับคนต่างศาสนา คือ ทรงออกพระราชกฤษฎีกาอาลัมบราให้ชาวยิวที่เหลือเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ มิฉะนั้นก็ต้องอพยพออกไปจากสเปน ซึ่งพอประมาณได้ว่าจำนวนชาวยิวที่ถูกขับไล่ออกไปนั้นอยู่ที่ 150,000[51]–200,000 คน[52] และอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา ชาวมุสลิมก็ประสบชะตากรรมเดียวกันคือถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา (เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "โมริสโก") หรือไม่ก็ถูกขับไล่ออกไป แต่ชาวยิวและชาวมุสลิมก็ไม่ใช่ประชากรเพียงสองกลุ่มในสเปนที่ถูกไล่ล่าในช่วงนี้ ชาวโรมานีก็ถูกรวมอยู่ในบัญชีกลุ่มคนที่จะต้องถูกกลืนเชื้อชาติศาสนาหรือถูกเนรเทศเช่นกัน[53]

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลยังทรงสร้างความมั่นคงทางการเมืองของสเปนในระยะยาวด้วยวิธีจัดการอภิเษกสมรสระหว่างพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์กับพระราชวงศ์ของอาณาจักรอื่น ๆ ในยุโรป พระราชธิดาพระองค์แรกคือเจ้าหญิงอิซาเบล ทรงอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารอาฟงซูแห่งโปรตุเกส เจ้าหญิงฆัวนาพระราชธิดาพระองค์ที่สองทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลลิพผู้ทรงโฉม พระราชโอรสของพระเจ้ามัคซีมีลีอาน กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (ออสเตรีย) และทรงมีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางและมีอำนาจมากด้วย เจ้าชายฆวนพระราชโอรสพระองค์แรกและพระองค์เดียว ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรเทอแห่งออสเตรีย (พระขนิษฐาของเจ้าชายฟิลลิพผู้ทรงโฉม) เจ้าหญิงมาริอาพระราชธิดาพระองค์ที่สี่ ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส และเจ้าหญิงกาตาลินาพระราชธิดาพระองค์ที่ห้า ทรงสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ และต่อมากลายเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ

มหาวิทยาลัยซาลามังกา

ภาษาและมหาวิทยาลัยของสเปน

[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีหลายภาษาที่ใช้พูดกันในเขตที่มีชาวคริสต์อาศัยอยู่ของดินแดนที่เป็นประเทศสเปนปัจจุบัน ได้แก่ ภาษากัสติยา ภาษากาตาลา ภาษาบาสก์ ภาษากาลิเซีย ภาษาอารัน และภาษาอัสตูเรียส-เลออน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งศตวรรษนี้ มีเฉพาะภาษากัสติยา (ซึ่งจะพัฒนามาเป็นภาษาสเปนทุกวันนี้) ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ[ต้องการอ้างอิง] ในอาณาจักรกัสติยาในฐานะภาษาแห่งวัฒนธรรมและการสื่อสาร ตัวอย่างหนึ่งคือ บทสดุดีวีรกรรมของเอลซิด

ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 (พระเจ้าเฟร์นันโดนักบุญ) ก็เริ่มมีการใช้ภาษากัสติยาบ้างในเอกสารต่าง ๆ แต่มากลายเป็นภาษาราชการก็ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 (พระเจ้าอัลฟอนโซผู้ทรงปัญญา) และนับจากนั้นเป็นต้นมา เอกสารต่าง ๆ ของทางการก็ได้รับการเขียนขึ้นเป็นภาษากัสติยา รวมทั้งตำราจากภาษาอื่นก็ได้รับการแปลเป็นภาษากัสติยาแทนภาษาละติน

ยิ่งไปกว่านั้น ในศตวรรษเดียวกันนี้เอง มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในอาณาจักรกัสติยา บางแห่ง (เช่น มหาวิทยาลัยซาลามังกา) เป็นหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป และใน ค.ศ. 1492 ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์คาทอลิก ตำราไวยากรณ์ภาษากัสติยาฉบับแรกก็ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นโดยอันโตนิโอ เด เนบริฆา[54]

จักรวรรดิสเปน

[แก้]
โคลัมบัสเริ่มเข้าจับจองดินแดนบนโลกใหม่

จักรวรรดิสเปนเป็นหนึ่งในบรรดาจักรวรรดิระดับโลกสมัยใหม่และเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สเปนและโปรตุเกสเป็นผู้นำของยุโรปในการสำรวจโลก การขยายอาณานิคม รวมทั้งการเปิดเส้นทางการค้าข้ามมหาสมุทร การค้าได้เจริญเฟื่องฟูขึ้นข้ามน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างสเปนกับอเมริกา และข้ามน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเอเชียตะวันออกกับเม็กซิโก (ผ่านทางฟิลิปปินส์) เหล่ากองกิสตาดอร์ ("ผู้พิชิต") ได้เข้าไปล้มล้างอารยธรรมแอซเท็ก อินคา และมายา และอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้อันกว้างขวาง ในช่วงหนึ่งจักรวรรดิสเปนมีอำนาจเหนือมหาสมุทรต่าง ๆ ด้วยกองทัพเรือที่มีประสบการณ์และมีชัยชนะในสนามรบในทวีปยุโรปด้วยกองทัพที่มีชื่อว่าเตร์ซิโอ ซึ่งเป็นทหารราบที่น่าเกรงขามและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี นอกจากนี้ สเปนยังเข้าสู่ยุคทองทางวัฒนธรรมของตนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 อีกด้วย

แผนที่จักรวรรดิสเปนและโปรตุเกสในยุคของสหภาพไอบีเรียภายใต้สถานะรัฐร่วมประมุขแห่งกษัตริย์สเปน (ค.ศ. 1580–1640)

ที่จริงในช่วงแรก ๆ นั้น ชาวสเปนค่อนข้างผิดหวังกับดินแดนในทวีปอเมริกาที่ตนได้ยึดครองไว้ เนื่องจากชนพื้นเมืองไม่มีอะไรที่จะทำการค้าด้วยมากนัก แม้ว่าผู้ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นจะพยายามผลักดันการค้าขายก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นโรคภัยที่ติดตัวนักล่าอาณานิคมไปก็ได้คร่าชีวิตชนพื้นเมืองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นของเขตอารยธรรมแอซเท็ก มายา และอินคา นี่เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของดินแดนอาณานิคมสเปนลดลง

ในคริสต์ทศวรรษ 1520 การสกัดแร่เงินขนานใหญ่จากแหล่งสะสมอันอุดมสมบูรณ์ในแคว้นกัวนาฮัวโตของเม็กซิโกได้เริ่มต้นขึ้น และเพิ่มปริมาณขึ้นอีกจากเหมืองแร่เงินอีกสองแห่งในแคว้นซากาเตกัสของเม็กซิโกและแคว้นโปโตซีของเปรูตั้งแต่ ค.ศ. 1546 การขนส่งแร่เงินเหล่านี้เป็นตัวปรับทิศทางเศรษฐกิจสเปน ทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เมล็ดพืช และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ สินค้าเหล่านี้ยังกลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อการบำรุงแสนยานุภาพของสเปนสมัยราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในการรบอันยืดเยื้อระหว่างชาวยุโรปกับชาวแอฟริกาเหนือ แม้ว่าตัวของสเปนเองโดยเฉพาะแคว้นกัสติยาจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญมากที่สุดอยู่แล้วก็ตาม (ยกเว้นในช่วงไม่กี่ปีของคริสต์ศตวรรษที่ 17) จากจุดเริ่มต้นที่ได้รวมจักรวรรดิโปรตุเกสเข้าด้วยกันใน ค.ศ. 1580 จนถึงการเสียอาณานิคมของตนในอเมริกาไปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น สเปนได้ดำรงฐานะจักรวรรดิที่ใหญ่สุดในโลกที่ถึงแม้จะประสบกับความผันผวนทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1640 เป็นต้นมา และเมื่อได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมทั้งความยากลำบากและความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการก่อร่างสร้างตัวเป็นจักรวรรดินั้น บรรดานักคิดของสเปนจึงเริ่มตั้งทฤษฎีแนวคิดสมัยใหม่ว่าด้วยกฎธรรมชาติ เทววิทยา อำนาจอธิปไตย กฎหมายระหว่างประเทศ สงคราม และเศรษฐศาสตร์ แม้กระทั่งการตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของลัทธิจักรวรรดินิยม สำนักความคิดที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่าสำนักซาลามังกา

สเปนสมัยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (คริสต์ศตวรรษที่ 16–17)

[แก้]

จักรวรรดิที่ทรงอำนาจของสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดและเสื่อมลงภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยแผ่ขยายอำนาจอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระเจ้าการ์โลสที่ 1[55] ซึ่งพระองค์ยังทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนเยอรมันและออสเตรียอีกด้วย โดยเฉลิมพระนาม "จักรพรรดิคาร์ลที่ 5"

พระเจ้าการ์โลสที่ 1 หนึ่งในกษัตริย์ยุโรปที่ทรงอำนาจมากที่สุดระหว่างรัชสมัยของพระองค์

พระเจ้าการ์โลสที่ 1 (จักรพรรดิคาร์ลที่ 5) เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเฟลิเปที่ 1 แห่งสเปน (เจ้าชายฟิลลิพผู้ทรงโฉม พระราชโอรสในจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) และสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาแห่งกัสติยา (เจ้าหญิงฆัวนา พระราชธิดาพระองค์ที่สองในพระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 แห่งอารากอน และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยาแห่งราชวงศ์ตรัสตามารา) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปนใน ค.ศ. 1516 นับแต่นั้นมาสเปนก็เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในหมู่กษัตริย์ของยุโรปมากยิ่งขึ้น พระองค์ไม่ได้ประทับในสเปนบ่อยนัก ในปลายรัชสมัย พระองค์ได้ทรงเตรียมการแบ่งมรดกของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือจักรวรรดิสเปนซึ่งรวมถึงเนเปิลส์ มิลาน เนเธอร์แลนด์ และอาณานิคมในทวีปอเมริกา และอีกส่วนคือตัวจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เองซึ่งรวมถึงออสเตรีย

ผู้สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์สเปนหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าการ์โลสที่ 1 ใน ค.ศ. 1556 คือ พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง สเปนรอดพ้นจากความขัดแย้งทางศาสนาซึ่งกำลังลุกลามไปทั่วทุกดินแดนส่วนอื่น ๆ ของยุโรปในขณะนั้นและสามารถธำรงศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไว้ได้ พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ทรงอุทิศพระองค์ให้กับคาทอลิกโดยทรงต่อต้านทั้งชาวเติร์กออตโตมันและกลุ่มผู้นับถือลัทธินอกรีต ในคริสต์ทศวรรษ 1560 แผนการที่จะควบคุมเนเธอร์แลนด์ให้มั่นคง (ความพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง) ได้นำไปสู่ความไม่สงบ ซึ่งภายหลังเกิดกลุ่มผู้นำการลุกขึ้นต่อต้านซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ลัทธิคาลวิน (นิกายโปรเตสแตนต์สาขาหนึ่ง) และเกิดสงครามแปดสิบปี (ค.ศ. 1568–1648) ขึ้น ความขัดแย้งนี้ทำให้สเปนสูญเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมากจึงพยายามที่จะไปยึดครองอังกฤษ (ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนชาวดัตช์ให้ลุกฮือขึ้น) แต่กองทัพเรืออาร์มาดาของสเปนกลับประสบความพ่ายแพ้ในสงครามอังกฤษ–สเปน (ค.ศ. 1585–1604 เป็นส่วนหนึ่งของสงครามแปดสิบปี) และสงครามระหว่างสเปนกับฝรั่งเศส (ค.ศ. 1590–1598)

ภาพวาดเรือรบสเปนถูกกองทัพเรือดัตช์ทำลายระหว่างยุทธนาวีที่อ่าวยิบรอลตาร์ ค.ศ. 1607 โดยแฮ็นดริก กอร์เนลิส โฟรม (ผู้พ่อ)
ภาพวาดเรือรบสเปนกำลังต่อสู้กับโจรสลัด ค.ศ. 1615 โดยกอร์เนลิส แฮ็นดริกส์ โฟรม (ผู้ลูก)

แม้จะเกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้น แต่การหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องของแร่เงินจากอเมริกาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 รวมทั้งกิตติศัพท์ของทหารราบและการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของกองทัพเรือหลังจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการรบกับอังกฤษ ทำให้สเปนกลายเป็นมหาอำนาจของยุโรป สหภาพไอบีเรียซึ่งรวมโปรตุเกสไว้ด้วยตั้งแต่ ค.ศ. 1580 ไม่เพียงแต่ทำให้ดินแดนทั้งหมดบนคาบสมุทรไอบีเรียกลายเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มแหล่งทรัพยากรทั่วโลกให้กับสเปนอีกด้วย (เช่นที่บราซิลและอินเดีย) อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจและการบริหารก็เพิ่มขึ้นในแคว้นกัสติยา ส่งผลให้ในศตวรรษถัดมาเกิดปัญหาเงินเฟ้อ การขับไล่ชาวยิวและชาวมัวร์ และภาวะพึ่งพิงการนำเข้าเงินและทองคำ ทั้งหมดรวมกันก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะในแคว้นที่ต้องรับภาระหนักอย่างกัสติยา

หมู่บ้านชายฝั่งต่าง ๆ ของสเปนและหมู่เกาะแบลีแอริกมักถูกโจรสลัดบาร์บารีจากแอฟริกาเหนือเข้าปล้นสะดมและโจมตีเสมอ ๆ เกาะฟูร์มันเตรารวมทั้งชายฝั่งซึ่งเป็นแนวยาวของสเปนและอิตาลี (ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากรังของโจรสลัดบนชายฝั่งแอฟริกาเหนือเป็นระยะทางไม่มากนัก) เกือบทั้งหมดแทบไม่มีผู้คนหลงเหลืออยู่ โจรสลัดที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ บาร์บารอสซา ("เคราแดง") ซึ่งเป็นชาวเติร์ก ชาวยุโรปจำนวนมากถูกจับและขายเป็นทาสในแอฟริกาเหนือและจักรวรรดิออตโตมันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปัญหานี้ค่อย ๆ คลายความรุนแรงลงเมื่อสเปนและมหาอำนาจชาวคริสต์อื่น ๆ เริ่มตรวจสอบอำนาจของกองทัพเรือมุสลิมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลังได้รับชัยชนะที่เมืองเลปันโตเมื่อ ค.ศ. 1571[56]

ระหว่าง ค.ศ. 1596–1602 เกิดกาฬโรคระบาดอย่างหนักในแคว้นกัสติยา คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 600,000–700,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด[57] พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1598 และพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 พระราชโอรสก็ทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ในรัชสมัยของพระองค์ ข้อตกลงสงบศึกกับชาวดัตช์ (ในสงครามแปดสิบปี) ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปีได้สิ้นสุดลง และสเปนก็เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618–1648 เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีสุดท้ายของสงครามแปดสิบปี)

พระเจ้าเฟลิเปที่ 4 ทรงสืบทอดราชสมบัติสเปนต่อจากพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 ผู้เป็นพระราชบิดาใน ค.ศ. 1621 นโยบายการบริหารส่วนใหญ่ดำเนินการโดยอัครมหาเสนาบดีกัสปาร์ เด กุซมัน อี ปิเมนตัล เคานต์-ดุ๊กแห่งโอลิบาเรส ใน ค.ศ. 1640 ในขณะที่การรบ (สงครามสามสิบปี) ในยุโรปกลางยังไม่มีผู้ชนะโดยเด็ดขาดยกเว้นฝรั่งเศส ทั้งโปรตุเกสและกาตาลุญญาได้ก่อการจลาจลขึ้น สเปนต้องเสียโปรตุเกสไปอย่างถาวร ส่วนในอิตาลีและกาตาลุญญานั้น กองกำลังของฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกไปและความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของกาตาลุญญาก็ถูกปราบปราม นอกจากนี้ ก็เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอกของกาฬโรคทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของคาบสมุทรในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1647–1652 หลังจากนี้ก็เกิดการระบาดขึ้นอีกเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งศตวรรษ ปรากฏว่าในสเปนรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1,250,000 คนจากกาฬโรคที่แพร่ระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้[57]

ในรัชสมัยของพระเจ้าการ์โลสที่ 2 พระราชโอรสในพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 ซึ่งทรงมีพัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้านั้น[58] สเปนสูญเสียความเป็นผู้นำในยุโรปและค่อย ๆ ลดฐานะลงเป็นชาติมหาอำนาจชั้นรอง ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตโดยยังไม่ทรงมีรัชทายาท เจ้าชายฟีลิป ดุ๊กแห่งอ็องฌู ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บงจากฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในผู้มีกรรมสิทธิ์ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนและเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟลิเปที่ 5" แต่ก็ถูกต่อต้านจากมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ ปรัสเซีย ซาวอย และเดนมาร์ก–นอร์เวย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทรงอ้างกรรมสิทธิ์ในการปกครองสเปนเช่นกัน ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (ค.ศ. 1701–1714) ขึ้น สงครามสิ้นสุดลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งให้พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 ทรงปกครองสเปนต่อไป จึงถือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรง "ชนะ" สงครามนี้ในที่สุด และในการนี้จึงก่อให้เกิดราชวงศ์บูร์บงสายสเปนขึ้น ในขณะที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสายสเปนได้ยุติบทบาทลงหลังจากปกครองประเทศมาร่วม 200 ปี[59] อย่างไรก็ตาม สเปนก็ต้องเสียเนเธอร์แลนด์ มิลาน เนเปิลส์ และเกาะซาร์ดิเนียให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เสียเกาะซิซิลีให้ซาวอย และเสียยิบรอลตาร์และเกาะมินอร์กาให้อังกฤษตามสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ชาติมหาอำนาจใดในยุโรปมีอำนาจมากเกินไป จักรวรรดิสเปนจึงมีพื้นที่และอาณาเขตในทวีปยุโรปน้อยลงมาก

ยุคทอง

[แก้]
โตเลโด โดยเอลเกรโก

ยุคทองของสเปน ("ซิโกลเดลโอโร" ในภาษาสเปน) เป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและอักษรศาสตร์ในจักรวรรดิสเปน (ปัจจุบันคือประเทศสเปนและประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการในภูมิภาคลาตินอเมริกา) ร่วมสมัยกับการเสื่อมถอยทางการเมืองของสเปนในรัชสมัยพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 พระเจ้าเฟลิเปที่ 4 และพระเจ้าการ์โลสที่ 2 นักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของยุค คือ ฆัวนา อิเนส เด ลา กรุซ ถึงแก่กรรมในนิวสเปนเมื่อ ค.ศ. 1695

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คทั้งในสเปนและออสเตรียต่างก็เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ในประเทศของตน เอลเอสโกเรียล อารามหลวงที่พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ทรงสั่งให้สร้างขึ้นนั้นได้ดึงดูดความสนใจจากสถาปนิกและจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรปจำนวนหนึ่ง ดิเอโก เบลัซเกซ จิตรกรที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรปได้สร้างไมตรีกับพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 และอัครมหาเสนาบดีในพระองค์ (เคานต์-ดุ๊กแห่งโอลิบาเรส) เบลัซเกซวาดรูปคนเหมือนอันแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและทักษะของเขาไว้ให้เราได้ศึกษา ส่วนเอลเกรโก ศิลปินสเปนซึ่งเป็นที่นับถืออีกคนหนึ่งก็เป็นผู้ที่นำรูปแบบศิลปะเรอเนซองซ์แบบอิตาลีเข้ามาผสมผสานกับศิลปะสเปน และช่วยสร้างสรรค์รูปแบบจิตรกรรมสเปนให้เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ผลงานดนตรีชิ้นเยี่ยมของสเปนจำนวนหนึ่งคาดว่าได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในยุคนี้ นักประพันธ์เพลง เช่น โตมัส ลุยส์ เด บิกโตเรีย, ลุยส์ เด มิลัน และอาลอนโซ โลโบ ได้ช่วยทำให้ดนตรีสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และอิทธิพลของพวกเขายังส่งผลมาถึงในสมัยบารอก

วงการวรรณกรรมของสเปนก็เฟื่องฟูในยุคนี้เช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ ผลงานที่มีชื่อเสียงของมิเกล เด เซร์บันเตส ผู้ประพันธ์ ดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า หรือโลเป เด เบกา ซึ่งเป็นนักเขียนบทละครที่มีผลงานมากที่สุดของสเปน เขียนบทละครมากถึงประมาณ 1,000 เรื่องในช่วงชีวิตของเขา และมากกว่า 400 เรื่องในจำนวนนั้นยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคภูมิธรรม : สเปนสมัยราชวงศ์บูร์บง (คริสต์ศตวรรษที่ 18)

[แก้]

พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์บูร์บงซึ่งมีต้นกำเนิดในฝรั่งเศสได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตาใน ค.ศ. 1715 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ล้มล้างสิทธิและเอกสิทธิ์ส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของแต่ละอาณาจักรที่ประกอบกันเป็นสเปน โดยรวบอำนาจบริหารของอาณาจักรเหล่านั้นเข้าสู่ศูนย์กลางภายใต้กฎหมายของกัสติยา[60] นอกจากนี้ สเปนยังกลายเป็นบริวารทางวัฒนธรรมและการเมืองของฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย อำนาจการปกครองสเปนของราชวงศ์บูร์บงยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 6 และพระเจ้าการ์โลสที่ 3

คาบสมุทรไอบีเรียในคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภายใต้การปกครองของพระเจ้าการ์โลสที่ 3 และอัครมหาเสนาบดีในพระองค์ คือ เลโอโปลโด เด เกรโกริโอ มาร์ควิสแห่งสกวิลลาเช และโฆเซ มอญญิโน เคานต์แห่งโฟลริดาบลังกา สเปนก็ได้เข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมซึ่งนำพาสเปนไปสู่ความมั่งคั่งครั้งใหม่ในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และหลังจากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ร่วมกับฝรั่งเศสต่ออังกฤษในสงครามเจ็ดปี (ค.ศ. 1756–1763) สเปนก็ได้ดินแดนที่เคยสูญเสียไปคืนมาเกือบทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดสงครามปฏิวัติอเมริกัน (ค.ศ. 1775–1783)

จิตวิญญาณนักปฏิรูปของพระเจ้าการ์โลสที่ 3 ดับสูญลงเมื่อพระราชโอรสองค์โตในพระองค์ คือ พระเจ้าการ์โลสที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงปล่อยให้มานูเอล โกดอย คนสนิทของพระมเหสีมีอำนาจในการบริหารประเทศเหนือพระองค์ และพระองค์ก็ทรงออกนโยบายซึ่งหักล้างกับแนวทางการปฏิรูปในรัชสมัยของพระราชบิดาอีกด้วย หลังจากที่ได้ต่อต้านฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติ (ช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส) ในระยะเวลาสั้น ๆ[61] ไม่นานนักสเปนก็กลับไปเป็นพันธมิตรกับเพื่อนบ้านทางเหนือแห่งนี้อีกครั้ง[62] และประกาศสงครามกับอังกฤษ[63] ทำให้สเปนถูกอังกฤษเข้าปิดล้อมทางทะเลเป็นการตอบโต้ การเสียพันธะทางการค้าและการเมืองกับอาณานิคมของตนรวมทั้งการถูกกองทัพนโปเลียนยึดครองในเวลาต่อมานั้น ได้นำไปสู่การเรียกร้องเอกราชของดินแดนเกือบทั้งหมดในโลกใหม่ของจักรวรรดิสเปน การไร้จุดยืนของพระเจ้าการ์โลสที่ 4 ในฐานะพันธมิตรของฝรั่งเศสเป็นตัวชักนำจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (นโปเลียน โบนาปาร์ต) แห่งฝรั่งเศสให้ยกทัพเข้ารุกรานสเปนใน ค.ศ. 1808

ในช่วงเวลาเกือบตลอดทั้งคริสต์ศตวรรษที่ 18 สเปนประสบความก้าวหน้ามากขึ้นหลังจากเข้าสู่สมัยแห่งความตกต่ำในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ก็ยังคงล้าหลังในการพัฒนาด้านภูมิธรรมและด้านการค้าซึ่งได้เปลี่ยนแปลงส่วนอื่น ๆ ของยุโรปไปแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศต่ำ และบางส่วนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายอันเป็นผลจากการแทรกแซงของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นั้นจะยิ่งทำให้ระยะห่างนี้กว้างยิ่งขึ้น

สงครามนโปเลียนและสงครามประกาศเอกราชสเปน (ค.ศ. 1808–1814)

[แก้]
วันที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 1808 โดยฟรันซิสโก โกยา แสดงทหารฝรั่งเศสกำลังกราดกระสุนใส่กลุ่มผู้ต่อต้านชาวสเปน

ในช่วงแรกของสงครามนโปเลียน (ค.ศ. 1803–1815) สเปนอยู่ฝ่ายต่อต้านฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติ[61] ความพ่ายแพ้ของกองทัพในช่วงต้น ๆ ของสงครามได้ทำให้พระเจ้าการ์โลสที่ 4 ทรงตัดสินพระทัยอย่างจริงจังที่จะไปเข้าข้างฝ่ายฝรั่งเศส แต่เมื่อกองทัพเรือผสมฝรั่งเศส–สเปนถูกกองทัพเรืออังกฤษทำลายอย่างย่อยยับในยุทธนาวีที่แหลมตราฟัลการ์ (ค.ศ. 1805)[64] พระองค์ก็ทรงกลับไปทบทวนการเข้าข้างฝรั่งเศสใหม่โดยทันที สเปนถอนตัวจากระบบภาคพื้นทวีป และแม้จะกลับไปเข้าร่วมอีกครั้งใน ค.ศ. 1807 แต่ก็ทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ไม่ทรงพอพระทัยอย่างมาก

อนึ่ง การที่สเปนถูกอังกฤษปิดล้อมทางทะเลเนื่องจากไปเข้าข้างฝรั่งเศสนั้น ทำให้อาณานิคมในอเมริกาถูกตัดขาดจากผู้ปกครองของตนเป็นครั้งแรกและเริ่มต้นทำการค้าขายกับอังกฤษได้อย่างอิสระ ความพ่ายแพ้ของอังกฤษซึ่งเข้าไปรุกรานริโอเดลาปลาตา (ค.ศ. 1806–1807 ส่วนหนึ่งของสงครามนโปเลียน) ในอเมริกาใต้ยังช่วยเพิ่มความกล้าหาญให้กับผู้ต้องการเป็นเอกราชในอาณานิคมอเมริกาของสเปนมากขึ้น

นอกจากนี้ ในสเปนเองโดยเฉพาะที่กรุงมาดริดก็เกิดจลาจลต่อต้านรัฐมนตรีโกดอยขึ้นทั่วไป เนื่องจากความโลเลไม่แน่นอนของเขาในการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศกับฝรั่งเศส[63] ค.ศ. 1808 พระเจ้าการ์โลสที่ 4 ต้องทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสคือเจ้าชายเฟร์นันโด ซึ่งขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7" แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (ซึ่งไม่ทรงไว้วางพระทัยราชสำนักสเปนอีกต่อไป) ทรงส่งกองทัพเข้ารุกรานสเปนและบีบบังคับให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติแก่โจเซฟ โบนาปาร์ต (พระเชษฐาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) ให้เป็นกษัตริย์ของสเปนแทน อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนและทหารสเปนก็ได้ต่อต้านอย่างแข็งขัน โดยประกาศตนอยู่ฝ่ายเดียวกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 การต่อสู้ครั้งนี้มีชื่อเรียกว่าสงครามคาบสมุทร (ค.ศ. 1808–1814) หรือที่ชาวสเปนเรียกว่า "สงครามประกาศเอกราชสเปน" ขณะที่สภาเมืองบัวโนสไอเรสและสภาเมืองการากัสในอเมริกาใต้ได้ประกาศเอกราชจากรัฐบาลโบนาปาร์ตในสเปนเมื่อ ค.ศ. 1810 และ ค.ศ. 1811 ตามลำดับ[65]

"สภา" ตามเมืองต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในสเปน[66] นอกจากเพราะต้องการต่อต้านฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังคาดหวังสิทธิ์ในการปกครองตนเองมากขึ้นจากกรุงมาดริดภายใต้รัฐธรรมนูญเสรีนิยมซึ่งสภาแต่ละแห่งได้ร่างไว้ด้วย รัฐสภาสเปนได้ลี้ภัยจากกรุงมาดริดมายังเมืองเซบิยาทางภาคใต้ แต่ถูกฝรั่งเศสผลักดันไปยังเมืองกาดิซ[67] และใน ค.ศ. 1812 สภากาดิซ (ชื่อเรียกรัฐสภาขณะลี้ภัยอยู่ที่เมืองนี้) ได้ตรารัฐธรรมนูญขึ้น นับเป็นรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ฉบับแรกของสเปน มีชื่อเล่นว่า "ลาเปปา"[68] ฝรั่งเศสจึงตอบโต้การตรารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวโดยผนวกแคว้นกาตาลุญญาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน

ขณะเดียวกัน กองทัพโปรตุเกสร่วมกับกองทัพอังกฤษนำโดยอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน ได้เข้าสู้รบกับกองทัพฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สงครามอันโหดร้ายครั้งนี้เป็นหนึ่งในสงครามครั้งแรก ๆ ของประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ที่ใช้วิธีการรบแบบกองโจร เส้นทางขนส่งเสบียงของฝรั่งเศส (ในสเปน) ถูกชาวสเปนซุ่มโจมตีหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งผลการรบในคาบสมุทรไอบีเรียก็ยังผันผวนไปมา ดุ๊กแห่งเวลลิงตันใช้เวลาหลายปีอยู่ในป้อมปราการที่โปรตุเกสและส่งกองทัพเข้าไปรบในเขตสเปนเมื่อมีโอกาสอันเหมาะสม ในที่สุดฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในยุทธการที่เมืองบิโตเรียทางภาคเหนือของสเปนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1813 และในปีถัดมา และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ก็ทรงขึ้นครองราชย์เป็นประมุขแห่งสเปนอีกครั้ง

สเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1814–1868)

[แก้]

แม้ว่าสภาต่าง ๆ ที่มีส่วนในการผลักดันฝรั่งเศสออกไปจากสเปนจะให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1812 แล้วก็ตาม แต่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 กลับทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นเสรีมากเกินไปสำหรับประเทศ (ระบุให้กษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) พระองค์จึงทรงปฏิเสธที่จะให้การรับรองและดำเนินการปกครองประเทศในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามอย่างกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ กลุ่มเสรีนิยมในสเปนจึงรู้สึกเหมือนถูกหักหลังจากกษัตริย์ที่ตนเองเคยสนับสนุน ส่วนสภาตามท้องถิ่นที่เคยต่อต้านโจเซฟ โบนาปาร์ต ต่างก็สูญเสียความเชื่อมั่นในการปกครองของกษัตริย์ของตน

แม้ว่าในสเปนยังพอจะยอมรับการปฏิเสธรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ แต่นโยบายนี้ก็ได้รับเสียงต่อต้านจากอาณานิคมของสเปนในโลกใหม่ การปฏิวัติเพื่อเรียกร้องเอกราชยังคงดำเนินต่อไป กองทัพสเปนไปถึงอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1814 และมีชัยชนะในการรบในดินแดนต่าง ๆ ในช่วงแรก แต่อาร์เจนตินาก็ประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1816[65] (เป็นอิสระโดยปริยายตั้งแต่ ค.ศ. 1807 ที่สามารถต่อต้านการรุกรานของอังกฤษได้สำเร็จ) ส่วนชิลีนั้นสเปนยึดกลับมาได้ใน ค.ศ. 1814 แต่ก็เสียไปอย่างถาวรใน ค.ศ. 1818[65] เมื่อกองทหารของโฆเซ เด ซาน มาร์ติน (หนึ่งในนักปฏิวัติเพื่อเอกราชของอเมริกาใต้) เดินทางจากอาร์เจนตินาข้ามเทือกเขาแอนดีสเข้ามาสมทบและเอาชนะทหารสเปนได้ และต่อมาสเปนก็เสียโคลอมเบียไปอีกใน ค.ศ. 1819[65]

ราฟาเอล เดล ริเอโก

เมื่อถึง ค.ศ. 1820 เม็กซิโก เปรู เอกวาดอร์ และอเมริกากลางยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมจากสเปน และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ก็ทรงตัดสินพระทัยจะยึดอาณานิคมที่เสียไปกลับคืนมา แต่สเปนก็ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนรวมทั้งแบ่งสรรอาหารและจัดหาที่พักสภาพดีให้กับทหารได้ เพราะแทบจะล้มละลายหลังจากการทำสงครามกับฝรั่งเศสและการฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่ ในปีเดียวกัน กองทหารที่กำลังจะถูกส่งไปปฏิบัติการในอเมริกาได้ก่อกบฏขึ้นที่เมืองกาดิซ (มีราฟาเอล เดล ริเอโก เป็นผู้นำ) และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1812 กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งกองทัพทั่วประเทศก็ประกาศเข้าข้างผู้ก่อการครั้งนี้ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 จึงทรงยินยอมและยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ต่อมากลุ่มนักปฏิวัติได้ล้อมพระราชวังไว้และกักบริเวณพระองค์ไว้ การลุกฮือเกิดขึ้นอีกในกองทหารที่กรุงมาดริดและสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นในเมืองโตเลโด แคว้นกัสติยา และแคว้นอันดาลูซิอา

การปกครองของรัฐบาลเสรีนิยม "หัวก้าวหน้า" และสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นร่วมกันนั้นจะเป็นตัวอย่างของการเมืองสเปนในศตวรรษถัดมา รัฐบุรุษชาติอื่น ๆ ของยุโรปต่างเห็นว่า รัฐบาลเสรีนิยมชุดนี้มีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติเป็นอย่างมาก ในการประชุมใหญ่แห่งเวโรนา (ค.ศ. 1822) ฝรั่งเศสก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้กำลังเข้าแทรกแซงสเปนและสามารถยึดกรุงมาดริดไว้ได้ กองกำลังปฏิวัติจนมุมและพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1823 ริเอโกถูกตัดสินประหารชีวิต พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ก็ทรงกลับมาปกครองประเทศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม สเปนก็เสียอาณานิคมเกือบทั้งหมดไปอย่างสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 1824 กองทัพสเปนกองทัพสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ของทวีปอเมริกาได้ปราชัยต่อกองกำลังของนักปฏิวัติอันโตนิโอ โฮเซ เด ซูเกร ในยุทธการที่แคว้นอายากูโช ทางภาคใต้ของเปรู

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2

สมัยแห่งความวุ่นวายยังคงดำเนินต่อมาอีกทศวรรษ เนื่องจากพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบทอดราชสมบัติ (แต่มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าหญิงอิซาเบล) ดังนั้นกษัตริย์พระองค์ต่อมาตามกฎหมายแซลิก (ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเดิม) จึงควรเป็นพระอนุชาในพระองค์ คือ เจ้าชายการ์โลส ในขณะที่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ซึ่งทรงอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมและเกรงว่าจะเกิดการก่อการกบฏขึ้นในชาติอีกนั้น ไม่ทรงเห็นว่านโยบายแนวปฏิกิริยาของพระอนุชาเป็นทางเลือกที่จะอยู่รอด พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 จึงทรงขัดขวางความต้องการของพระอนุชาโดยทรงยกเลิกการใช้กฎหมายแซลิก[69] และพระราชทานสิทธิ์แห่งการสืบราชสมบัติให้แก่พระราชธิดาในพระองค์แทน เจ้าชายการ์โลสไม่ทรงยอมรับรองสิทธิดังกล่าวและเสด็จหนีไปยังโปรตุเกส

การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ใน ค.ศ. 1833 และการขึ้นครองราชย์ของเจ้าหญิงอิซาเบล (ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 3 ชันษาในขณะนั้น) ในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 แห่งสเปน เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดสงครามการ์ลิสต์ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1833–1839) เจ้าชายการ์โลสทรงบุกสเปนและได้รับการสนับสนุนจากทั้งกลุ่มปฏิกิริยาและกลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศ (การที่กลุ่มอนุรักษนิยมหรือกลุ่มผู้นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ฝ่ายเจ้าชายการ์โลสนั้น เป็นเพราะทราบว่าต่อไปสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นไปในทางเสรีนิยม) ส่วนพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบล คือ สมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนาแห่งบูร์บง-ซิซิลีทั้งสอง ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจนกว่าพระราชธิดาจะทรงบรรลุนิติภาวะ

เจ้าชายการ์โลส ดุ๊กแห่งโมลินา

การก่อการกบฏดูเหมือนจะถูกกำราบในปลายปีเดียวกันนั้นเอง โดยกองทัพ (กลุ่มเสรีนิยม) ของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนาสามารถขับไล่กองทัพการ์ลิสต์จากพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นประเทศบาสก์ได้ เจ้าชายการ์โลสจึงทรงแต่งตั้งโตมัส เด ซูมาลาการ์เรกิ นายทหารชาวบาสก์เป็นผู้บัญชาการทหารในพระองค์ ซูมาลาการ์เรกิรวบรวมและฟื้นฟูกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสขึ้นมาใหม่ และเมื่อถึง ค.ศ. 1835 ได้ผลักดันให้กองกำลังของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนาถอยร่นกลับไปยังแม่น้ำเอโบร และเปลี่ยนแปลงกองทัพที่กำลังเสียขวัญของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสให้เป็นกองทัพที่แข็งแกร่งเหนือกว่ากองกำลังฝ่ายตรงข้ามแม้มีกำลังทหารเพียง 3 หมื่นนาย แต่การเสียชีวิตของซูมาลาการ์เรกิจากการรบใน ค.ศ. 1835 ก็เปลี่ยนแปลงอนาคตของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสอีกครั้ง นอกจากนี้กองกำลังของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนายังได้นายพลผู้มีความสามารถ คือ บัลโดเมโร เอสปาร์เตโร เข้ามาบัญชาการ ชัยชนะของเขาในยุทธการที่เขตลูชานา (ค.ศ. 1836) เป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม และใน ค.ศ. 1839 การประชุมใหญ่แห่งเบร์การาก็ได้ประกาศยุติการก่อกบฏของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลส

เอสปาร์เตโรเริ่มได้รับความนิยมในฐานะวีรบุรุษจากสงครามด้วยสมญานาม "ผู้สร้างสันติของสเปน" เขาร้องขอให้มีการปฏิรูปแบบเสรีนิยมจากสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนา แต่พระองค์ซึ่งไม่ทรงสนับสนุนแนวคิดใด ๆ ก็ทรงลาออกและให้เอสปาร์เตโรขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาการปฏิรูปแบบเสรีนิยมของเอสปาร์เตโรถูกกลุ่มสายกลางต่อต้าน นอกจากนี้ ความไร้ประสบการณ์ทางการเมืองและความแข็งกระด้างของเขายังได้ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นเป็นระยะ ๆ ในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศซึ่งทั้งหมดถูกปราบปราบลงอย่างรุนแรง เขาถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการใน ค.ศ. 1843 โดยรามอน มาริอา นาร์บาเอซ ซึ่งเป็นนายพลสายกลาง เมื่อ ค.ศ. 1846 กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสก่อการจลาจลขึ้นอีกและเกิดสงครามของผู้ตื่นเช้าในแคว้นกาตาลุญญา แต่คราวนี้กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสจัดการกองทัพได้ไม่ดี จึงเป็นสาเหตุให้ถูกปราบลงได้เมื่อ ค.ศ. 1849

เลโอโปลโด โอโดเนล

รัฐสภาสเปนไม่พอใจกับการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศ จึงตัดสินใจที่จะไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก และประกาศให้เจ้าหญิงอิซาเบลซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 13 พรรษาขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 จากนั้นพระองค์ก็ทรงเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในรัฐบาลหลังจากทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ก็ทรงไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก พระองค์ทรงถูกมองว่าไม่ทรงเอาพระทัยใส่ประชาชนชาวสเปน ใน ค.ศ. 1856 พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างกลุ่มสายกลางกับกลุ่มหัวก้าวหน้า คือ สหภาพเสรีนิยมภายใต้การนำของเลโอโปลโด โอโดเนล แต่แผนการของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ล้มเหลวและทำให้พระองค์ทรงสูญเสียเกียรติภูมิและความนิยมจากประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก

ค.ศ. 1860 สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ทรงประกาศทำสงครามกับโมร็อกโก โดยมีโอโดเนลและฆวน ปริม เป็นผู้บัญชาการ การได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงสามารถรักษาความนิยมในสเปนไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในการรบเพื่อยึดเปรูและชิลีกลับคืนมาในช่วงสงครามหมู่เกาะชินชาในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นก็สร้างความเสียหายอย่างหนักและสเปนต้องปราชัยให้กับทหารอเมริกาใต้ และใน ค.ศ. 1866 การก่อการกำเริบที่นำโดยฆวน ปริม ถูกปราบปรามลงได้ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประชาชนสเปนก็ไม่พอใจกับความพยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวด้านการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2

"6 ปีแห่งประชาธิปไตย" (ค.ศ. 1868–1874)

[แก้]
ฆวน ปริม

ใน ค.ศ. 1868 กลุ่มนายพลหัวก้าวหน้า ได้แก่ ฟรันซิสโก เซร์ราโน และฆวน ปริม ได้ร่วมมือกันทำรัฐประหาร และเอาชนะกองทหารสายกลางของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ได้สำเร็จในยุทธการที่เมืองอัลโกเลอา สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ต้องเสด็จลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส

การปฏิวัติและอนาธิปไตยยังเกิดขึ้นในสเปนเป็นเวลาอีก 2 ปีนับจากนั้น จนกระทั่งใน ค.ศ. 1870 รัฐสภาออกประกาศว่าสเปนจะมีกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง การตัดสินใจนี้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปเมื่อเจ้าชายเลโอพ็อลท์แห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นจากปรัสเซียได้รับการเสนอให้มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกษัตริย์สเปน การต่อต้านของฝรั่งเศสเนื่องจากเกรงว่าปรัสเซียจะแผ่ขยายอำนาจลงมาทางใต้นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามในปลายปีเดียวกัน เจ้าชายอาเมเดโอแห่งซาวอยก็ได้รับการคัดเลือกและทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งสเปน เฉลิมพระนาม "พระเจ้าอามาเดโอที่ 1 แห่งสเปน" ในช่วงเวลาเดียวกับที่ฆวน ปริม นายพลผู้สนับสนุนพระองค์ถูกลอบสังหาร

พระเจ้าอามาเดโอที่ 1 ทรงรับรองรัฐธรรมนูญเสรีนิยมที่รัฐสภาสเปนได้ประกาศไว้ แต่พระองค์ต้องทรงเผชิญภาระหนักโดยทันทีในการนำอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันของสเปนมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในสเปนยังคงมีความขัดแย้งถกเถียงกันไม่เพียงแต่ในหมู่ชาวสเปนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระหว่างนักการเมืองของพรรคต่าง ๆ ด้วย ซึ่งแม้ว่ารัฐสภาจะเป็นผู้เลือกพระองค์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ก็กลับมองว่าพระองค์ทรงเป็นคนนอก ยิ่งไปกว่านั้น ในรัชสมัยของพระองค์ กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสได้ก่อสงครามขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 และกระแสเรียกร้องเอกราชในคิวบาก็รุนแรงขึ้นอีกด้วย

สาธารณรัฐสเปนที่ 1 (ค.ศ. 1873–1874)

[แก้]
ธงชาติสเปนสมัยสาธารณรัฐที่ 1

พระเจ้าอามาเดโอที่ 1 ทรงปกครองประเทศโดยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริงจากทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน ต่อมาใน ค.ศ. 1873 รัฐบาลหัวรุนแรงได้ร้องขอให้พระองค์ออกพระราชกฤษฎีกายุบกองทหารปืนใหญ่ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพระองค์กับนายกรัฐมนตรี พระองค์จึงทรงสละราชบัลลังก์สเปนทันทีโดยทรงประกาศว่าชาวสเปน "ปกครองไม่ได้"[70] จากนั้นจึงเสด็จออกไปจากประเทศเพื่อกลับไปอิตาลี ในวันรุ่งขึ้น (11 กุมภาพันธ์) เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มสาธารณรัฐนิยม และกลุ่มประชาธิปไตยได้ประกาศให้สเปนเป็นประเทศสาธารณรัฐ

สเปนถูกรุมเร้าจากปัญหาที่ยังเรื้อรังจากช่วงเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของประเทศและก่อกบฏที่ใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่ ค.ศ. 1872 นอกจากนี้ยังมีการบ่อนทำลายในกองทัพ ความพยายามกระทำรัฐประหาร เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิวัติในแบบสังคมนิยม การลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลและความก่อความไม่สงบในแคว้นนาวาร์และกาตาลุญญา รวมทั้งแรงกดดันจากคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกต่อสาธารณรัฐเกิดใหม่แห่งนี้ด้วย

การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (ค.ศ. 1874–1931)

[แก้]
พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ทรงสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์สเปนให้แก่พระราชโอรสคือเจ้าชายอัลฟอนโซแห่งอัสตูเรียสตั้งแต่ ค.ศ. 1870 และหลังจากเกิดความวุ่นวายไม่สิ้นสุดในสาธารณรัฐสเปนที่ 1 ชาวสเปนส่วนใหญ่ก็ตกลงใจที่ยอมรับการกลับไปสู่ความมีเสถียรภาพของประเทศภายใต้การปกครองของราชวงศ์บูร์บงอีกครั้ง กองกำลังสาธารณรัฐนิยมในสเปนนำโดยมาร์ติเนซ กัมโปส ซึ่งกำลังปราบปรามการก่อการกบฏของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสอยู่นั้นได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อเจ้าชายอัลฟอนโซในฤดูหนาวของ ค.ศ. 1874–1875 ต่อมาสาธารณรัฐสเปนก็สลายตัวไปเมื่อเจ้าชายอัลฟอนโซทรงขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12 แห่งสเปน ส่วนอันโตนิโอ กาโนบัส เดล กัสติโย ที่ปรึกษาในพระองค์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันสิ้นปี ค.ศ. 1874 กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสถูกปราบลงอย่างราบคาบโดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งทรงเข้าไปมีบทบาทในสงครามและทรงได้รับการสนับสนุนจากพสกนิกรส่วนใหญ่ของพระองค์อย่างรวดเร็ว

ระบบหมุนเวียนทางการเมืองระหว่างพรรคเสรีนิยม (ซึ่งมีปรักเซเดส มาเตโอ ซากัสตา เป็นผู้นำ) กับพรรคอนุรักษนิยม (ซึ่งมีกาโนบัส เดล กัสติโย เป็นผู้นำ) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลัดกันมีอำนาจในรัฐบาล นอกจากนี้ ความมั่นคงและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสเปนก็ได้รับการฟื้นฟูในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12 นี้เอง แต่การเสด็จสวรรคตของพระองค์เมื่อ ค.ศ. 1885 ตามด้วยการลอบสังหารกาโนบัส เดล กัสติโย เมื่อ ค.ศ. 1897 ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในเวลาต่อมาเริ่มสั่นคลอน

ซากเรือรบเมน

ส่วนที่อเมริกา คิวบาได้ก่อความไม่สงบต่อต้านสเปนในสงครามสิบปีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1868 ส่งผลให้เกิดการเลิกทาสในดินแดนอาณานิคมโลกใหม่ของสเปน ผลประโยชน์ของสหรัฐที่มีในเกาะแห่งนี้ประกอบกับความพยายามของขบวนการเรียกร้องเอกราชในคิวบาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้แย่ลง การระเบิดเรือรบเมนที่ฐานทัพเรือฮาวานาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 เป็นชนวนให้เกิดสงครามสเปน–สหรัฐ เนื่องจากสเปนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ สเปนจึงต้องประสบกับหายนะร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง คิวบาได้รับเอกราชในที่สุด สเปนยอมถอนกำลังทหารออกไปและยังเสียอาณานิคมแห่งอื่นที่เหลืออยู่ในโลกใหม่ คือ ปวยร์โตรีโก รวมทั้งกวมและฟิลิปปินส์ให้แก่สหรัฐด้วย[71] และใน ค.ศ. 1899 สเปนก็ขายหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยังอยู่ในความครอบครองของตน (ได้แก่ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะแคโรไลน์ และปาเลา) ให้แก่เยอรมนี ทำให้สเปนมีดินแดนอาณานิคมเหลือเพียงสแปนิชโมร็อกโก สแปนิชสะฮารา และสแปนิชกินี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา

"หายนะ" ใน ค.ศ. 1898 ได้ก่อให้เกิดรุ่นวัย 98 ซึ่งเป็นกลุ่มของรัฐบุรุษและปัญญาชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น นอกจากนี้ ขบวนการอนาธิปไตยและฟาสซิสต์เริ่มก่อตัวขึ้นในสเปนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1909 รัฐบาลเรียกเกณฑ์กำลังสำรองอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อส่งไปรบและรักษาดินแดนอาณานิคมในโมร็อกโก ทำให้ชนชั้นแรงงานในเมืองบาร์เซโลนาและเมืองอื่น ๆ ของแคว้นกาตาลุญญาไม่พอใจอย่างมาก จึงนัดหยุดงานประท้วงและก่อการจลาจลโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนาธิปไตย กลุ่มต่อต้านทหาร และกลุ่มสังคมนิยม นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับชนชั้นแรงงานซึ่งเรียกกันว่าสัปดาห์วิปโยค ผลคือฝ่ายหลังถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและเสียชีวิตไปมากกว่าร้อยคน

การที่สเปนรักษาความเป็นกลางระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ได้และเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและเสบียงให้กับประเทศคู่สงครามทั้ง 2 ฝ่ายนั้นส่งผลดีอย่างมากกับประเทศ กล่าวคือ เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นทันที เกิดการพัฒนาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนทั้งในประเทศและที่อื่น ๆ ในโลก รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกก็สร้างความเสียหายให้กับสเปนอีก โดยต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้ การนัดหยุดงานของผู้ใช้แรงงานถูกปราบปรามใน ค.ศ. 1919

การขึ้นฝั่งที่โขดหินอาลูเซมัสในแอฟริกาเหนือได้สำเร็จใน ค.ศ. 1925 ส่งผลให้สเปนเริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามริฟ

การปฏิบัติต่อชาวมัวร์อย่างไม่เป็นธรรมในดินแดนสแปนิชโมร็อกโกนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนและการเสียดินแดนในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ไป (เหลือเพียงเมืองเซวตาและเมลียา) ใน ค.ศ. 1921 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงตัดสินพระทัยสนับสนุนมิเกล ปริโม เด ริเบรา ให้ปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาระรับผิดชอบต่อการสูญเสียทั้งทหารและงบประมาณจากการพ่ายแพ้สงครามครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม การร่วมรบกับฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านชนพื้นเมืองของโมร็อกโกในสงครามริฟ (ค.ศ. 1921–1926) ก็ทำให้สเปนได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมาบ้าง

ต่อมาสภาวะล้มละลายใน ค.ศ. 1930 และการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากประชาชนทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ไม่ทรงมีทางเลือกอื่นนอกจากการบังคับให้ปริโม เด ริเบรา ลาออกจากตำแหน่ง ดามาโซ เบเรงเกร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่ แต่ประชาชนก็เสื่อมศรัทธากับกษัตริย์ที่ทรงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการไปแล้ว โดยตำหนิว่าพระองค์ทรงพยายามจะปกครองประเทศตามแบบเบนีโต มุสโสลีนี[72] จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการสถาปนาสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อมา (ค.ศ. 1931) เบเรงเกร์ประกาศลาออก มีการจัดการเลือกตั้งระดับเทศบาลเมื่อเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งประชาชนในเขตเมืองพากันลงคะแนนเสียงให้กับกลุ่มสาธารณรัฐนิยม ทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ต้องทรงลี้ภัยออกจากประเทศ และแม้พระองค์จะไม่ได้ทรงประกาศสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ แต่สาธารณรัฐสเปนก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งที่ 2

สาธารณรัฐสเปนที่ 2 (ค.ศ. 1931–1939)

[แก้]
ธงชาติสเปนสมัยสาธารณรัฐที่ 2

ในสมัยสาธารณรัฐที่ 2 ได้มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศให้สเปนเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยของแรงงานทุกชนชั้น"[73] ไม่มีศาสนาทางการ[73] และแยกบทบาทของรัฐและศาสนจักรออกจากกันอย่างชัดเจน[74] นอกจากนี้ ยังให้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปแก่ผู้หญิงชาวสเปนเป็นครั้งแรก[75] รัฐบาลกลางก็มีแนวโน้มที่จะให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่แคว้นกาตาลุญญาเพิ่มขึ้น[76]

รัฐบาลชุดแรก ๆ ของสาธารณรัฐเป็นฝ่ายกลาง-ซ้ายที่มีนิเซโต อัลกาลา-ซาโมรา และมานูเอล อาซัญญา เป็นผู้นำ[77] ปัญหาเศรษฐกิจและการเป็นหนี้ที่สืบเนื่องมาจากสมัยการบริหารของมิเกล ปริโม เด ริเบรา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนำไปสู่การก่อความไม่สงบทางการเมืองอย่างรุนแรงของกลุ่มชาวนาในแคว้นเอซเตรมาดูราและแคว้นอันดาลูซิอาทางภาคใต้

ต่อมาใน ค.ศ. 1933 สมาพันธ์สิทธิปกครองตนเองสเปนหรือเซดาซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาได้รับเลือกตั้งจากเสียงข้างมากให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล[78] แต่ก็ยังทำผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1934 กลุ่มแรงงานเหมืองถ่านหินที่แคว้นอัสตูเรียสได้นัดหยุดงานและก่อการจลาจลขึ้น[79] โดยใช้อาวุธ รัฐบาลจึงส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตรวม 1,335 คน[80] และบาดเจ็บ 2,051 คน[80] นี่เองเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นอีกทั่วประเทศ เช่น ขบวนการอนาธิปไตย กลุ่มปฏิกิริยาใหม่ กลุ่มขวาจัดอย่างกลุ่มฟาลังเฆ และกลุ่มประเพณีนิยมอย่างกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ด้วย เป็นต้น

สงครามสองสเปน (ค.ศ. 1936–1939)

[แก้]
ทหารกองหนุนของกลุ่มจงรักภักดีกำลังโจมตีที่มั่นของกลุ่มก่อการกำเริบที่โซโมซิเอร์รา แคว้นมาดริด ในฤดูร้อน ค.ศ. 1936

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 การเมืองสเปนแตกแยกออกเป็น 2 ขั้วอำนาจคือฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายได้แก่พรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ซึ่งต้องการให้มีการต่อสู้ระหว่างชนชั้น การปฏิรูปที่ดิน การปกครองตนเองของแต่ละแคว้น รวมทั้งการลดอำนาจศาสนจักรและกษัตริย์ลง ส่วนฝ่ายขวาซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดคือพรรคเซดาและกลุ่มคาทอลิกมีความเห็นคัดค้านกับประเด็นดังกล่าว ใน ค.ศ. 1936 พรรคฝ่ายซ้ายทั้งหมดรวมกลุ่มกันเป็นพรรคแนวหน้าประชาชน[81] และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมืองและย่านอุตสาหกรรม[82]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมซึ่งเป็นฝ่ายกลาง–ซ้ายชุดนี้ก็ยังถูกบ่อนทำลายจากกลุ่มที่ต้องการการปฏิวัติ เช่น สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติและสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย และจากฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น กลุ่มฟาลังเฆและกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลส ความรุนแรงทางการเมืองอย่างที่เคยเกิดในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งในเมืองหลวงและท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมีการต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนในการประท้วงหยุดงาน ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกินเริ่มเข้ายึดที่ดินจากนายทุนเจ้าของที่[83] บุคคลทางศาสนาถูกสังหาร โบสถ์และสำนักชีถูกเผาทำลายไปหลายแห่ง กองทหารอาสาสมัครฝ่ายขวา (เช่น ฟาลังเฆ) และมือปืนที่ถูกว่าจ้างมาได้ลอบสังหารนักปฏิบัติการหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่ได้สร้างความสมานฉันท์หรือความเชื่อใจกันระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งหลายอันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเกิดสันติภาพ ฝ่ายขวาและบุคคลระดับสูงในกองทัพเริ่มวางแผนก่อการยึดอำนาจ[84] และเมื่อโฆเซ กัลโบ โซเตโล ผู้นำนักการเมืองฝ่ายขวาถูกตำรวจของสาธารณรัฐยิงเสียชีวิต[85][86] ฝ่ายผู้ก่อการ (เรียกว่า "ฝ่ายชาตินิยม") จึงถือเอาเหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติเพื่อล้มรัฐบาล[85][87] เป็นผลให้ความขัดแย้งภายในชาติกลายสภาพเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 ฟรันซิสโก ฟรังโก นำกองทัพอาณานิคมในโมร็อกโกจากเมืองเมลียาและบุกเข้าโจมตีแผ่นดินใหญ่จากภาคใต้ ในขณะที่กำลังอีกด้านหนึ่งภายใต้การนำของโฆเซ ซานฆูร์โฆ ก็เคลื่อนพลจากแคว้นนาวาร์ทางภาคเหนือลงมาทางใต้ มีการระดมพลขึ้นทุกแห่งโดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้ายึดหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาล (หรือ "ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม") ในตอนแรกการบุกเข้าโจมตีของฟรังโกนั้นมีเป้าหมายว่าจะยึดอำนาจให้ได้ในทันที แต่การต้านกำลังฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมในเมืองใหญ่ เช่น มาดริด บาร์เซโลนา บาเลนเซีย และบิลบาโอ ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงส่อเค้าให้เห็นว่าสเปนจะต้องผจญกับสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อต่อไป ในไม่ช้า พื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายชาตินิยมซึ่งมีกองทหารประจำการในแอฟริกาเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงนั้น[88] นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากต่างชาติอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายชาตินิยมได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนีนาซี อิตาลีฟาสซิสต์ และโปรตุเกส ส่วนฝ่ายรัฐบาล (สาธารณรัฐนิยม) ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและกองกำลังอาสาคอมมิวนิสต์ซึ่งรวมตัวกันในชื่อว่ากองพลน้อยนานาชาติ

ฟรังโกประกาศการยุติสงครามที่เมืองบูร์โกสเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939[89]

การล้อมอัลกาซาร์ที่เมืองโตเลโดในช่วงต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของสงคราม ฝ่ายชาตินิยมได้รับชัยชนะหลังจากล้อมอยู่เป็นเวลานาน ส่วนฝ่ายสาธารณรัฐนิยมยังสามารถยึดกรุงมาดริดเป็นฐานที่มั่นไว้ได้แม้ฝ่ายชาตินิยมจะเข้าโจมตีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 นอกจากนี้ยังสามารถยืนหยัดต้านการรุกเข้าเมืองหลวงไว้ได้ที่ริมแม่น้ำฆารามา[90] และเมืองกัวดาลาฆารา[90] เมื่อ ค.ศ. 1937 แต่หลังจากนั้นฝ่ายชาตินิยมเริ่มขยายดินแดนในความควบคุมของตนได้และรุกเข้าไปทางภาคตะวันออกเพื่อตัดขาดกรุงมาดริดออกจากเมืองอื่น ๆ

ส่วนภาคเหนือรวมทั้งแคว้นประเทศบาสก์ถูกยึดครองได้ในปลาย ค.ศ. 1937[91] และแนวรบทางแคว้นอารากอนก็ถูกตีแตกหลังจากนั้นไม่นานนัก[92] เป็นไปได้ว่าการทิ้งระเบิดที่เมืองเกร์นิกาในแคว้นประเทศบาสก์โดยกองทัพอากาศของเยอรมนี (ลุฟท์วัฟเฟอ) จะเป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่สุดของสงครามและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพเขียนของปิกาโซ ยุทธการที่แม่น้ำเอโบรระหว่างเดือนกรกฎาคม–พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่จะพลิกโฉมหน้าของสงคราม เมื่อประสบความพ่ายแพ้ในการรบครั้งนี้และเมืองบาร์เซโลนาซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของตนยังถูกฝ่ายชาตินิยมยึดได้อีกเมื่อต้น ค.ศ. 1939[93][94] ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสงครามใกล้จะสิ้นสุดแล้ว แนวรบที่เหลือของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมทยอยแตกลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งทางกรุงมาดริดประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1939

สงครามซึ่งคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนระหว่าง 500,000–1,000,000 คน[95] ครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยการล้มล้างสาธารณรัฐสเปนและการขึ้นสู่อำนาจของฟรังโกในฐานะผู้เผด็จการของชาติ เมื่อสงครามสิ้นสุด ฟรังโกได้ควบรวมพรรคการเมืองฝ่ายขวาทั้งหมดเข้าเป็นพรรคเดียวคือพรรคฟาลังเฆ[96] รวมทั้งจัดโครงสร้างภายในพรรคใหม่ ให้ยุบเลิกพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย (หรือฝ่ายสาธารณรัฐนิยม) และสหภาพการค้าทั้งหมดลง นอกจากนี้ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมถูกสั่งจำคุกเป็นแสนคน[97] และอย่างน้อยประมาณ 30,000[98]–35,000 คน[99] ถูกประหารชีวิตในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1939–1953[100] ที่เหลือถูกบังคับให้ทำงานสาธารณประโยชน์[101] หรือไม่ก็ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศตลอดสมัยของฟรังโก

สมัยเผด็จการของฟรังโก (ค.ศ. 1936–1975)

[แก้]
ฟรันซิสโก ฟรังโก

แม้สเปนจะวางตัวเป็นกลางทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1936–1939) ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับประเทศดังกล่าวไปแล้ว หลังจากประกาศยุติการสู้รบอย่างเป็นทางการ ฟรันซิสโก ฟรังโก ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสาธารณรัฐสเปนเป็น "รัฐสเปน" ซึ่งเป็นความต้องการที่จะแยกความแตกต่างของระบอบการปกครองใหม่ออกจากทั้งระบอบราชาธิปไตยและระบอบสาธารณรัฐที่มีมาแต่เดิม

ฟรังโกกุมอำนาจปกครองประเทศในระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนิยมซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในทุก ๆ ด้าน สเปนจึงถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้นก็เริ่มจะตามทันประเทศเพื่อนบ้านของตนในยุโรปอยู่บ้าง ต่อมาใน ค.ศ. 1947 รัฐสเปนได้รับการประกาศให้เป็นประเทศราชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่มีการระบุให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์ ฟรังโกได้สงวนสิทธิ์ในการเลือกประมุขไว้เอง

ในสมัยนี้ สเปนยังพยายามเรียกร้องเอาดินแดนยิบรอลตาร์คืนจากสหราชอาณาจักรอย่างแข็งขัน และได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในสหประชาชาติซึ่งสเปนเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกเมื่อ ค.ศ. 1955 หลังจากถูกนานาชาติกีดกันในช่วงแรก ๆ ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1960 สเปนได้ใช้มาตรการจำกัดเขตแดนกับยิบรอลตาร์ ซึ่งในที่สุดก็ลงเอยด้วยการปิดพรมแดนใน ค.ศ. 1969 และไม่มีการเปิดใช้อย่างสมบูรณ์จนกระทั่งใน ค.ศ. 1985

ส่วนในแอฟริกา การปกครองของสเปนในโมร็อกโกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1956 แม้จะได้รับชัยชนะทางการทหารในสงครามการรุกรานแอฟริกาตะวันตกของสเปนจากโมร็อกโก (ค.ศ. 1957–1958) แต่สเปนก็ค่อย ๆ ถอนตัวออกไปจากอาณานิคมในแอฟริกาที่ยังเหลืออยู่เนื่องจากถูกสหประชาชาติกดดัน สแปนิชกินีได้รับเอกราชเป็นประเทศอิเควทอเรียลกินีใน ค.ศ. 1968 และจังหวัดอิฟนีกลายเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกตั้งแต่ ค.ศ. 1969

ธงชาติสเปนสมัยฟรังโก

ช่วงหลัง ๆ ของสมัยการปกครองของฟรังโก มีการเปิดเสรีและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองในสเปนมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศด้วย ต่อมาสเปนก็ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม[102] และในที่สุดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969 ฟรังโกออกประกาศว่าตนเองได้เลือกเจ้าชายฆวน การ์โลส แห่งราชวงศ์บูร์บง (สายสเปน) ให้สืบทอดตำแหน่งประมุขแห่งรัฐต่อจากเขา[103] ใน ค.ศ. 1975 สแปนิชสะฮาราซึ่งเป็นอาณานิคมแห่งสุดท้ายของสเปนก็หลุดมือไปอยู่กับโมร็อกโก (แต่ยังมีปัญหาการเรียกร้องเอกราชในดินแดนดังกล่าวอยู่จนถึงทุกวันนี้) ไม่นานนักฟรังโกก็ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 20 พฤศจิกายน และอีกสองวันถัดมา (22 พฤศจิกายน) เจ้าชายฆวน การ์โลส ก็เสด็จขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน" ดังนั้น ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการจึงเปลี่ยนจากรัฐสเปนเป็น "ราชอาณาจักรสเปน" นับแต่นั้น

สเปนตั้งแต่ ค.ศ. 1975

[แก้]

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย

[แก้]
สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ประมุขแห่งสเปนระหว่าง ค.ศ. 1975–2014

"การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย" หรือ "การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งใหม่" เป็นยุคที่ประเทศสเปนกำลังปรับเปลี่ยนจากความเป็นรัฐเผด็จการไปสู่ความเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย โดยทั่วไปถือว่าการเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นหลังจากฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ส่วนการสิ้นสุดกระบวนการอย่างสมบูรณ์ก็ถือเอาชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1982 เป็นสัญญาณบ่งบอก

ระหว่าง ค.ศ. 1978–1982 สเปนมีสหภาพศูนย์กลางประชาธิปไตย (ซึ่งในช่วงแรกเป็นรัฐบาลผสมและต่อมาเป็นพรรคการเมือง) เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ มีอาโดลโฟ ซัวเรซ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากสิ้นสุดสมัยเผด็จการ

ใน ค.ศ. 1981 เกิดความพยายามก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยอันโตนิโอ เตเฆโร ร่วมกับสมาชิกสารวัตรทหารจำนวนหนึ่งในหน่วยพิทักษ์​พลเรือน​บุกยึดสภาผู้แทนราษฎรและประกาศระงับสมัยประชุมที่ซึ่งเลโอโปลโด กัลโบ-โซเตโล กำลังจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การทำรัฐประหารก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ทรงออกแถลงการณ์ยับยั้งไว้ ในปีต่อมา (ค.ศ. 1982) สเปนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือก่อนที่กัลโบ โซเตโลจะพ้นจากตำแหน่ง

นอกจากเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสังคมสเปนด้วย ในอดีต (ภายใต้การปกครองของฟรังโก) สังคมสเปนมีความเป็นอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ชาวสเปนมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกและรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามากขึ้น สมาชิกในสังคมจึงเริ่มเปิดเสรีทางค่านิยมและจารีตประเพณีมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย เช่น ปัญหาโสเภณี การทำแท้ง อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น เป็นต้น

สเปนในปัจจุบัน

[แก้]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1982–1996 พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศโดยมีเฟลิเป กอนซาเลซ เป็นนายกรัฐมนตรี[104] ใน ค.ศ. 1986 สเปนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป)[105] รวมทั้งได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่เมืองบาร์เซโลนา[106] และจัดงานแสดงสินค้าโลก (เอกซ์โป) ที่เมืองเซบิยาใน ค.ศ. 1992[107]

เมื่อ ค.ศ. 1996 พรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคกลาง–ขวาก้าวขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาล มีโฆเซ มาริอา อัซนาร์ เป็นผู้นำ และในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 สเปนยกเลิกหน่วยเงินเปเซตาและหันไปใช้หน่วยเงินยูโรร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปแทน

เปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสเปน

เมื่อ ค.ศ. 2004 ได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถไฟ 4 ขบวนที่กรุงมาดริดในช่วงเวลาเร่งด่วนของเช้าวันที่ 11 มีนาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 191 คน[108] และบาดเจ็บอีก 1,755 คน[108] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนแคว้นประเทศบาสก์ (เอตา) โดยทันทีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์[109] แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการก่อวินาศกรรมครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มชาวมุสลิมหัวรุนแรงที่ได้รับ "แรงบันดาลใจ" ในการก่อเหตุจากขบวนการอัลกออิดะฮ์[110] เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนสหรัฐในการทำสงครามโจมตีอิรัก ซึ่งชาวสเปนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้อยู่แล้ว[111]

ความผิดพลาดต่าง ๆ ของรัฐบาลพรรคประชาชนมีอิทธิพลโดยตรงต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นในอีก 3 วันถัดมา แม้ว่าการหยั่งเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะแสดงให้เห็นว่าความนิยมในพรรคใหญ่ 2 พรรคนี้ใกล้เคียงกันมากเกินกว่าจะทำนายผลได้อย่างแม่นยำก็ตาม[112] กล่าวคือ ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนก็ได้รับชัยชนะไป โฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร หัวหน้าพรรคจึงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากอัซนาร์ และหลังจากครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อ ค.ศ. 2008 ซาปาเตโรก็ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศอีกเป็นสมัยที่ 2 จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม เอาชนะมาเรียโน ราฆอย ซึ่งเป็นผู้นำพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ได้สำเร็จ

ทุกวันนี้สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกอบด้วยแคว้นปกครองตนเอง 17 แห่ง (ได้แก่ อันดาลูซิอา อารากอน อัสตูเรียส หมู่เกาะแบลีแอริก กานาเรียส กันตาเบรีย กัสติยาและเลออน กัสติยา-ลามันชา กาตาลุญญา เอซเตรมาดูรา กาลิเซีย ลาริโอฆา มาดริด ภูมิภาคมูร์เซีย ประเทศบาสก์ บาเลนเซีย และนาวาร์) กับนครปกครองตนเองซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาอีก 2 แห่ง (ได้แก่ เซวตาและเมลียา)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Applied History Research Group. University of Calgary. European Voyages of Exploration: Imperial Spain. เก็บถาวร 2008-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 11. (อังกฤษ)
  3. "'First west Europe tooth' found". BBC. 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-20. (อังกฤษ)
  4. Fernández-Jalvo, Y.; Díez, J. C.; Cáceres, I.; and Rosell, J. (September 1999). "Human cannibalism in the Early Pleistocene of Europe (Gran Dolina, Sierra de Atapuerca, Burgos, Spain)". Journal of Human Evolution. Academic Press. 37 (34): 591–622. doi:10.1006/jhev.1999.0324. ISSN 0047-2484.((cite journal)): CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) (อังกฤษ)
  5. "Spain - History - Pre-Roman Spain - Prehistory". Britannica Online Encyclopedia. 2008. (อังกฤษ)
  6. 6.0 6.1 6.2 Jordá Cerdá, F. et al. Historia de España I: Prehistoria. Madrid : Gredos, 1986. ISBN 84-249-1015-X (สเปน)
  7. 7.0 7.1 Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 12. (อังกฤษ)
  8. 8.0 8.1 8.2 Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 24. (สเปน)
  9. Babaev, Cyril. "Materials about the Iberians and Iberian Languages." [Online]. Available: http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html เก็บถาวร 2010-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [n.d.]. Retrieved August 12, 2008. (อังกฤษ)
  10. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 17. (อังกฤษ)
  11. "Spain". Encarta Online Encyclopedia. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-02-07. (อังกฤษ)
  12. "Spain - History - Pre-Roman Spain - Phoenicians". Britannica Online Encyclopedia. 2008. (อังกฤษ)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 Cidarland. "The Punic Wars." [Online]. Available: http://www.geocities.com/capitolhill/parliament/2587/punic.html [n.d.]. Retrieved October 27, 2008. (อังกฤษ)
  14. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 18. (อังกฤษ)
  15. Nova Roma. "A timeline of Rome and the Byzantine Empire, 800 BC-1453 AD." [Online]. Available: http://www.novaroma.org/camenaeum/
    RomanTimeline.txt
    [n.d.]. Retrieved August 12, 2008. (อังกฤษ)
  16. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 27. (สเปน)
  17. PlanetWare Inc. Sagunto, Spain. เก็บถาวร 2008-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  18. Fournie, Daniel A. "Second Punic War: Battle of Zama." [Online]. Available: http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-of-zama.htm [n.d.]. Retrieved August 12, 2008. (อังกฤษ)
  19. Lazenby, John Francis. Hannibal's War: A Military History of the Second Punic War. Warminster, England : Aris and Phillips, 1978, p. 41. (อังกฤษ)
  20. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 23. (อังกฤษ)
  21. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 29. (สเปน)
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 34. (อังกฤษ)
  23. Payne, Stanley G. "A History of Spain and Portugal; Ch. 1 Ancient Hispania." [Online]. Available: http://libro.uca.edu/payne1/spainport1.htm 1973. Retrieved August 13, 2008. (อังกฤษ)
  24. "Theodosius-I". Britannica Online Encyclopedia. 2008. (อังกฤษ)
  25. Ballou, Susan H., and Peter, Hermann. "The Life of Marcus Aurelius Part 1." [Online]. Translated by David Magie. Available: http://penelope.uchicago.edu/Thayer/E/Roman/Texts/Historia_Augusta/Marcus_Aurelius/1*.html [n.d.]. Retrieved August 13, 2008. (อังกฤษ)
  26. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 35. (สเปน)
  27. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 31. (อังกฤษ)
  28. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 39. (อังกฤษ)
  29. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 35. (สเปน)
  30. 30.0 30.1 Scaruffi, Piero. "A time-line of the Barbars." [Online]. Available: http://www.scaruffi.com/politics/barbars.html [n.d.]. Retrieved August 16, 2008. (อังกฤษ)
  31. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 42. (อังกฤษ)
  32. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 667.
  33. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 51. (อังกฤษ)
  34. 34.0 34.1 34.2 Spanish Fiestas Ltd. "Visigothic Spain." [Online]. Available: http://www.spanish-fiestas.com/history/visigoths.htm [n.d.]. Retrieved August 16, 2008. (อังกฤษ)
  35. Penny, Ralph. A History of the Spanish Language. 2nd ed. New York : Cambridge University Press, 2002. Quoted in Random History.com. "Coalition, Conquest, and Conversion; The History of the Spanish Language." [Online]. Available: http://www.randomhistory.com/1-50/015spanish.html เก็บถาวร 2009-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [n.d.]. Retrieved August 16, 2008. (อังกฤษ)
  36. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 53. (อังกฤษ)
  37. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 11. (อังกฤษ)
  38. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 22. (อังกฤษ)
  39. World History at KMLA. Timelines - Vikings, Saracens, Magyars. (อังกฤษ)
  40. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 119. (อังกฤษ)
  41. Brodman, James William. Ransoming Captives in Crusader Spain: The Order of Merced on the Christian-Islamic Frontier. (อังกฤษ)
  42. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 46. (สเปน)
  43. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 153. (อังกฤษ)
  44. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 190. (อังกฤษ)
  45. Ohio State University Department of History. "Timeline - Middle Ages: 500 AD to 1500 AD." [Online]. Available: http://ehistory.osu.edu/world/
    TimeLineDisplay.cfm?Era_id=5
    เก็บถาวร 2009-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[n.d.]. Retrieved August 14, 2008. (อังกฤษ)
  46. My Jewish Learning, Inc. The Almohads เก็บถาวร 2009-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  47. 47.0 47.1 Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 59. (สเปน)
  48. 48.0 48.1 Mackay, Angus. "The Late Middle Ages, 1250-1500." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 90-115. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 106. (อังกฤษ)
  49. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 65. (สเปน)
  50. ในช่วงแรก ชื่อ "สเปน" ไม่ได้นำมาใช้เรียกดินแดนเกือบทั้งหมดบนคาบสมุทรไอบีเรียโดยทันที แต่ใช้เรียกเฉพาะอาณาเขตที่เกิดขึ้นจากการรวมกันระหว่างราชอาณาจักรกัสติยา อารากอน และนาวาร์ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เท่านั้น, ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 672.
  51. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 110. (สเปน)
  52. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 673.
  53. Solsten, Eric, and Meditz, Sandra W., eds. Spain: A Country Study. Washington: GPO for the Library of Congress, 1988. (อังกฤษ)
  54. Antonio, Nicolás. Bibliotheca Hispana Nova. i. 132 (1888) (ละติน)
  55. Charles V, Holy Roman emperor. The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. 2001-07 (อังกฤษ)
  56. Davis, Robert. When Europeans were slaves: Research suggests white slavery was much more common than previously believed. เก็บถาวร 2011-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  57. 57.0 57.1 Payne, Stanley G. The Seventeenth-Century Decline. (อังกฤษ)
  58. Kamen, Henry. Spain, 1469-1714 : a society of conflict. 3rd ed. Harlow : Pearson/Longman, 2005, p. 276
  59. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A - B. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547, หน้า 160.
  60. Herr, Richard. "Flow and Ebb." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 173-204. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 176. (อังกฤษ)
  61. 61.0 61.1 Del Moral, Cristina. La Guerra de la Independencia. Madrid : Anaya, 1990, pág. 11.
  62. Del Moral, Cristina. La Guerra de la Independencia. Madrid : Anaya, 1990, pág. 12.
  63. 63.0 63.1 Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, p. 147-148. (สเปน)
  64. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, p. 148. (สเปน)
  65. 65.0 65.1 65.2 65.3 Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 160. (สเปน)
  66. Cronos, Grupo. España: siglo XIX (1789-1833). 3ª ed. Madrid : Anaya, 1995, pág. 45-46. (สเปน)
  67. Cronos, Grupo. España: siglo XIX (1789-1833). 3ª ed. Madrid : Anaya, 1995, pág. 55. (สเปน)
  68. รัฐสภาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันนักบุญโจเซฟหรือ โฆเซ (José) ในภาษาสเปน ชื่อโฆเซมีชื่อเล่นว่า เปเป (Pepe) เมื่อทำคำนามนี้เป็นเพศหญิงเพื่อให้สอดคล้องกับเพศทางไวยากรณ์ของคำว่ารัฐธรรมนูญ (constitución) โดยเปลี่ยนสระ -e ท้ายคำเป็นสระ -a จึงได้เป็น เปปา (Pepa)
  69. Cronos, Grupo. España: siglo XIX (1789-1833). 3ª ed. Madrid : Anaya, 1995, pág. 80. (สเปน)
  70. Sightseeing in Madrid - City Guide. 09. - Amadeo de Saboya (1845-1890). เก็บถาวร 2008-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  71. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 168. (สเปน)
  72. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A - B. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547, หน้า 44.
  73. 73.0 73.1 Constitución de la República Española de 1931. เก็บถาวร 2009-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  74. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 682.
  75. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 62. (สเปน)
  76. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 177. (สเปน)
  77. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 245. (อังกฤษ)
  78. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 44. (สเปน)
  79. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 50-51. (สเปน)
  80. 80.0 80.1 Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 52. (สเปน)
  81. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 60. (สเปน)
  82. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 61. (สเปน)
  83. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 49. (อังกฤษ)
  84. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 66. (สเปน)
  85. 85.0 85.1 Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 57. (อังกฤษ)
  86. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 179. (สเปน)
  87. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 252. (อังกฤษ)
  88. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 218. (อังกฤษ)
  89. Grugel, Jean, and Rees, Tim. Franco's Spain. London : Arnold, c1997, p. 23. (อังกฤษ)
  90. 90.0 90.1 Generalísimo Francisco Franco. Grandes batallas de la Guerra Civil Española. (สเปน)
  91. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 261. (อังกฤษ)
  92. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 262. (อังกฤษ)
  93. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 263. (อังกฤษ)
  94. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 82. (สเปน)
  95. จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่โดยทั่วไปประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 500,000–1,000,000 คน เมื่อเวลาผ่านไปนักประวัติศาสตร์ต่างก็ปรับลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงเรื่อย ๆ และจากผลการค้นคว้าบางแหล่งในปัจจุบันสรุปว่า 500,000 คนเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง, Thomas, Hugh. The Spanish Civil War. New York : The Modern Library, 2001, p. xviii & 899–901, inclusive. (อังกฤษ)
  96. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 684.
  97. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 449-450. (อังกฤษ)
  98. Spain torn on tribute to victims of Franco. (อังกฤษ)
  99. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 450. (อังกฤษ)
  100. Casanova, Julián, et al. Morir, matar, sobrevivir. La violencia en la dictadura de Franco. Barcelona, 2002, pp. 19ff; Vega Sonbría, Santiago. De la esperanza a la persecución. La represión franquista en la provincia de Segovia, 1936-1939. Barcelona, 2005, p. 279. Quoted in Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 546. (อังกฤษ)
  101. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 449. (อังกฤษ)
  102. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 685.
  103. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E - G. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2543, หน้า 215.
  104. Spanish Socialist Worker's Party -- Britannica Online Encyclopedia (อังกฤษ)
  105. Spain in the European Union (อังกฤษ)
  106. 1992 Olympics - Infoplease.com (อังกฤษ)
  107. Expo92.net (อังกฤษ)
  108. 108.0 108.1 El Mundo. El auto de procesamiento por el 11-M. (สเปน)
  109. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 688.
  110. Madrid Bombing Suspect Denies Guilt เก็บถาวร 2020-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The New York Times, February 15, 2007: The cell was inspired by al-Qaida but had no direct links to it, nor did it receive financing from Osama bin Laden's terrorist organization, Spanish investigators say. (อังกฤษ)
  111. ชาวสเปนถึงร้อยละ 92 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอิรัก [1] เก็บถาวร 2010-01-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  112. Evolución del voto en las encuestas preelectorales de SIGMA DOS. เก็บถาวร 2004-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


{{bottomLinkPreText}} {{bottomLinkText}}
ประวัติศาสตร์สเปน
Listen to this article

This browser is not supported by Wikiwand :(
Wikiwand requires a browser with modern capabilities in order to provide you with the best reading experience.
Please download and use one of the following browsers:

This article was just edited, click to reload
This article has been deleted on Wikipedia (Why?)

Back to homepage

Please click Add in the dialog above
Please click Allow in the top-left corner,
then click Install Now in the dialog
Please click Open in the download dialog,
then click Install
Please click the "Downloads" icon in the Safari toolbar, open the first download in the list,
then click Install
{{::$root.activation.text}}

Install Wikiwand

Install on Chrome Install on Firefox
Don't forget to rate us

Tell your friends about Wikiwand!

Gmail Facebook Twitter Link

Enjoying Wikiwand?

Tell your friends and spread the love:
Share on Gmail Share on Facebook Share on Twitter Share on Buffer

Our magic isn't perfect

You can help our automatic cover photo selection by reporting an unsuitable photo.

This photo is visually disturbing This photo is not a good choice

Thank you for helping!


Your input will affect cover photo selection, along with input from other users.

X

Get ready for Wikiwand 2.0 🎉! the new version arrives on September 1st! Don't want to wait?