For faster navigation, this Iframe is preloading the Wikiwand page for เจ้าคุณพระประยุรวงศ์.

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

ท่านเจ้าคุณ

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

เกิดคุณแพ
5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397
เมืองธนบุรี
เสียชีวิต22 มีนาคม พ.ศ. 2486 (88 ปี)
บ้านบรรทมสินธุ์ จังหวัดพระนคร
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร
บิดามารดาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
ท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงษ์ไวยวัฒน์
ญาติเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 (น้องสาว)

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ นามเดิม แพ (5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2486) เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าคุณจอมมารดาแพ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเกียรติยศขึ้นเป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษให้ออกนามว่า เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ และได้รับเกียรติให้ใช้คำว่า "ถึงแก่พิราลัย" เทียบเจ้าประเทศราชและสมเด็จเจ้าพระยา[1] กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยกล่าวยกย่องท่านว่า "ท่านสมบูรณ์ด้วยเกียรติยศ และเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลายมิรู้เสื่อมทรามจนตลอดอายุ"[2]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ มีนามเดิมว่า แพ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอิ่ม และท่านผู้หญิงอ่วมซึ่งเป็นป้า (พี่สาวของแม่) ก็เป็นภรรยาเอกอีกท่านหนึ่งของบิดา[3] มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน ได้แก่ เล็ก (เป็นที่คุณหญิงสรราชภักดี), ฉาง, เหมา (เป็นที่หลวงจักรยานานุพิจารณ์), หมิว (เป็นที่จ่ายวดยศสถิต), โหมด (เป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5), แม้น (เป็นห้ามของกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช), เมี้ยน และมิด[3]

ครอบครัวของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ สืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัด แขกเจ้าเซ็นจากอิหร่าน ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีมาแต่ครั้งกรุงเก่า[4] จนกระทั่งลูกหลานรุ่นเหลนคือเจ้าพระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[5] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หลานชายของเจ้าพระยาเพ็ชร์พิไชย คือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้นท่านลิ้ม ภรรยาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงเกิดความสงสาร จึงนำพระขนิษฐาแท้ ๆ คือ เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ให้กับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา และเป็นต้นสกุลบุนนาค นับเป็นตระกูลที่จงรักภักดี และมีฐานะเป็นเครือญาติใกล้กับราชวงศ์จักรีในฐานะคู่เขย หลังจากนั้นเป็นต้นมาสกุลบุนนาคและเครือญาติจึงมีหน้าที่คอยถวายตัวธิดาเป็นบาทบริจาริกาสนองพระเดชพระคุณมาในทุก ๆ รัชกาล[6]

มูลเหตุที่มีนามว่า แพ เพราะท่านเกิดที่แพริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งเขตธนบุรี ทำนองเดียวกันกับพี่สาวที่ชื่อ ฉาง เพราะบิดาเคยย้ายครอบครัวไปอาศัยในฉางข้าวในระยะหนึ่งและให้กำเนิดธิดาที่นั่น[3] เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ที่ฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่ยังเยาว์ ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งเรือนดังกล่าวคือโรงเรียนศึกษานารี[7] ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของสายสกุลบุนนาคไว้ปลูกเรือนอาศัยอยู่ต่อ ๆ กันมาริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้คลองกุฎีจีนลงมาจนถึงคลองวัดพิชัยญาติ[3]

ในวัยเยาว์ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้สมญาว่า ม่วง อันเป็นนามของแม่ค้าชราคนหนึ่งซึ่งทำขนมขายได้เลิศรส ท่านจึงติดใจและชอบยายม่วงมาก อยู่มาวันหนึ่ง กลุ่มเพื่อนของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้ถามเล่นว่าใครอยากเป็นอะไรบ้าง เมื่อถามมาถึงเจ้าคุณประยุรวงศ์ ท่านก็ตอบกลับไปว่า อยากเป็นยายม่วง เพื่อนเด็ก ๆ เห็นเป็นเรื่องขำขันจึงพากันเรียกล้อท่านว่าม่วงอยู่ช่วงหนึ่ง[3]

ถวายตัว

[แก้]

เมื่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์มีอายุได้ 13 ปี ใน พ.ศ. 2409 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นปู่ ได้พาท่านเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายใน โดยพาไปฝากกับเจ้าจอมมารดาเที่ยง บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับไว้ในพระอุปการะของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ 15 พรรษา และเสด็จออกไปจากพระราชฐานฝ่ายในตามธรรมเนียม จึงไม่มีโอกาสได้เห็นหรือทันรู้จักเจ้าคุณพระประยุรวงศ์[8] แต่ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พบเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เมื่อครั้งตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐในงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ก็ทรงพอพระทัยตั้งแต่ครั้งแรกที่ทอดพระเนตรเห็น หลังจากนั้นจึงทรงสืบจนทราบแน่ชัดว่าหญิงที่ทรงพอพระทัยนั้นเป็นใคร[3] หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดให้มีละครวังหลวงแสดงที่วังหน้า เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถือหีบหมากเสวยตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐไปด้วย และนั่งชมละครที่บริเวณหน้าพลับพลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทอดพระเนตรตรงมายังตัวท่านบ่อย ๆ และในคืนนั้น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ก็ฝันว่ามีงูใหญ่มารัดตัวท่าน จึงนำความฝันนี้ไปเล่าแก่ญาติผู้ใหญ่ในงานสมรสของคุณเล็ก พี่สาว เมื่อญาติได้ฟังความฝันของท่านก็พากันหัวเราะชอบใจ[3]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าไปขอร้องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ ว่าให้นำตัวเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ออกงานพระราชพิธีบ่อย ๆ เพื่อจะเห็นหน้าบ้าง รวมทั้งทรงใช้พระอนุชาพระองค์น้อย ๆ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ซึ่งยังสามารถเข้านอกออกในพระราชฐานชั้นในได้ ทำหน้าที่เป็นสื่อรัก ที่ชวนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ไปรับชมมหรสพหรือขบวนแห่ต่าง ๆ รวมทั้งใช้ให้พระพี่เลียงนำของมาพระราชทานให้หลายต่อหลายครั้ง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์กล่าวไว้ว่า "…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้พระพี่เลี้ยงชื่อกลาง นำหีบน้ำอบฝรั่งเข้าไปประทานหีบหนึ่ง ด้วยสมัยนั้นน้ำอบฝรั่งเพิ่งมีเข้ามาขายในเมืองไทย คนกำลังชอบกันมาก หีบน้ำอบฝรั่งที่ประทานนั้นทำเป็นสองชั้น เปิดฝาออกถึงชั้นบน มีพระรูปฉายวางไว้ในนั้น เปิดถึงชั้นล่างต่อลงไปมีน้ำอบฝรั่งสองขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกันอยู่…"[8] ในเวลาต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐทรงชักชวนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ตามเสด็จไปงานวันวิสาขบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกัน และเมื่อได้โอกาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสขอเจ้าคุณพระประยุรวงศ์จากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐไปเป็นห้าม[3] แต่เมื่อเรื่องถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นปู่ จึงมีคำสั่งให้ท่านผู้หญิงอิ่ม มารดา มารับตัวเจ้าคุณพระประยุรวงศ์กลับไปที่เรือน ทำให้ทั้งสองพรากจากกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงขอร้องให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐช่วยให้พระองค์พบกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์อีกครั้ง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์กล่าวถึงการพบกันในครั้งนั้นว่า "เป็นแต่รันทดกำสรดโศก หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่"[8]

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นเจ้าชายหนุ่มกลัดกลุ้มพระราชหฤทัยยิ่งนัก และเมื่อการณ์เป็นเช่นนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นเจ้าจอมคนโปรด นำความกราบทูลแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงมีพระเมตตาแก้ปัญหาแก่พระราชโอรส ด้วยการตรัสขอเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ รับท่านเป็นสะใภ้หลวง[8]

บาทบริจาริกา

[แก้]
เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ใน พ.ศ. 2410 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถูกส่งตัวไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยเจ้าคุณพระประยุรวงศ์กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า "เดินออกไปทางประตูราชสำราญ เหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวร พระนารายณ์ มีคนถือเทียนนำหน้า และถือคบรายสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพวกใหญ่ พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นทั้งสองข้างทาง อายจนแทบจะเดินไม่ได้"[8] เจ้าคุณพระประยุรวงศ์มีฐานะเป็น หม่อม และหลังอภิเษกสมรสได้เพียงสามเดือน เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ก็ตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังนันทอุทยาน ริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี เป็นสถานที่สำหรับประสูติพระหน่อ เพราะตามโบราณราชประเพณี สตรีสามัญชนไม่สามารถคลอดลูกในพระบรมมหาราชวังได้[3] ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าต้องเสด็จข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อปฏิบัติราชการที่พระบรมมหาราชวัง และข้ามฟากกลับพระตำหนัก เย็นบ้าง ค่ำบ้าง และบางคราวก็ดึก โดยในช่วงน้ำลง พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินบนสะพานไม้รวกยาว ๆ ริมคลองเพื่อกลับพระตำหนักไปหาครอบครัวอยู่เสมอ[8] หลังตั้งครรภ์ได้เพียงเจ็ดเดือน เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ก็ให้ประสูติการพระราชธิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี[3]

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมา ส่วนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์มีฐานะเป็น เจ้าจอมมารดา และย้ายที่อยู่อาศัยไปยังพระบรมมหาราชวัง สามีต้องมีบาทบริจาริกาอีกหลายนางตามโบราณราชประเพณี เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้ทูลขอพรพิเศษจากสามีไว้ ความว่า "พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ก็จะไม่เคียดขึ้งตึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระเมตตาต่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เป็นอย่างดี[8] ทรงให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เช่น ห้ามท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนท่าน อนุญาตให้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ปรนนิบัติพระองค์ภายในพระที่นั่งเย็น รวมทั้งการปรนนิบัติเป็นกิจวัตรในทุก ๆ วัน คือ การถวายเครื่องพระสำอางและตั้งเครื่องพระกระยาหารต้มเมื่อตื่นบรรทม หลังเสร็จพระกรณียกิจช่วงเช้า ท่านก็มาปรนนิบัติอีกในช่วงบ่าย กลางคืนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าบรรทมแล้ว ซึ่งหมดจากนี้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จะไม่เข้าไปยุ่งกิจการใด ๆ อีก[8] รวมทั้งใช้ราชาศัพท์กับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เช่น สรง บรรทม เสด็จ และพิราลัย เทียบเจ้าประเทศราชและสมเด็จเจ้าพระยา[9] และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียก จะทรงเรียกว่า แม่แพ หากอยู่ต่อหน้าผู้อื่นจะทรงเรียกว่า คุณแพ ไม่เรียก นาง อย่างนางบาทบริจาริกานางอื่น[10]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เหนือยิ่งกว่านางสนมคนใด โดยพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาประดับเพชร[10][11] ในวันสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกอยู่ในอาการโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้ขับร้องเพลงในวรรณคดีเชิงล้อเลียนเปรียบเปรยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิทรงถือโทษโกรธเคือง ทรงให้อภัยเพราะท่านคือรักแรกของพระองค์[12] ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้ท่านขึ้นเป็น เจ้าคุณจอมมารดา ดังระบรมราชโองการว่า "มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมา เจ้าจอมมารดาฝ่ายในที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเป็นที่นับถือของคนในพระบรมมหาราชวังโดยมาก เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องขึ้นให้เรียกว่า เจ้าคุณ บัดนี้ทรงพระราชดำริว่า เจ้าจอมมารดาแพ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาถึง 37 ปี เป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ และเป็นบุตรีท่านอัครมหาเสนาบดี มีตระกูลสูงเนื่องในราชนิกูล สมควรจะมียศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า แต่นี้ไปให้เรียกเจ้าจอมมารดาแพว่า เจ้าคุณจอมมารดา"[11]

ในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตเป็นที่ประทับ ด้วยทรงปรารภว่าในอนาคตหากพระองค์เสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาที่มีพระราชโอรสก็คงออกไปอยู่วังของพระราชโอรส เจ้าจอมที่ไม่มีพระราชบุตรก็จะออกไปเป็นอิสระ ขณะที่เจ้าจอมมารดาที่มีพระราชธิดาคงจำต้องอาศัยอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในภายในพระบรมมหาราชวังเรื่อยไป พระองค์จึงซื้อที่ดินบริเวณริมคลองสามเสนด้านใต้ เพื่อจัดสรรให้แก่เจ้าจอมมารดาที่มีแต่พระราชธิดาอาศัยอยู่ในบั้นปลาย เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้รับพระราชทานก่อนคุณจอมท่านอื่น ท่านทูลขอออกมาสร้างเรือนพำนักอยู่สวนนอกเมื่ออายุราว 50 ปี[13] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์สามารถออกเที่ยวเตร่ได้ และดำรัสสั่งกรมทหารเรือซึ่งเป็นพนักงานรักษาเรือพาหนะของหลวงอยู่ด้วยในสมัยนั้น ว่าถ้าเจ้าคุณจะไปไหน ก็ให้จัดพาหนะของหลวงให้ใช้ทุกเมื่อ คือมีใช้ทั้งรถหลวงและเรือหลวง แต่ตัวของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เองนั้นพอใจที่จะพายเรือตามเรือกสวนภายในจังหวัดพระนครเสียมากกว่า[14]

บั้นปลายและพิราลัย

[แก้]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าสถาปนาให้ท่านขึ้นเป็น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษ ในฐานะที่เป็นสนมเอกชั้นผู้ใหญ่ และเป็นหัวหน้านักนางสนมทั้งปวง[15]

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี พ.ศ. 2486 เวลา 20 นาฬิกา ณ บ้านบรรทมสินธุ์ สิริอายุ 88 ปี มีพิธีหลวงอาบน้ำศพและเชิญศพลงโกศในวันที่ 24 มีนาคม ปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานโกศประกอบลองกุดั่นน้อย และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุในสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[2] อัฐิของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์บรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดสุรชายาราม[16]

กิจกรรม

[แก้]

ในราชสำนัก

[แก้]

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์เป็นสตรีที่กล้าแสดงออก สนุกสนาน มีความคิดแปลกใหม่และทันสมัย ผิดกับหญิงสาวในยุคนั้น ท่านชื่นชอบการร้องรำทำเพลงและเล่นละครเป็นอย่างยิ่ง บทละครร้องที่ท่านแต่งมีเรื่องราวสนุกสนาน แปลก ทันสมัยไม่เหมือนใคร รวมทั้งยังกล้าที่จะแต่งเนื้อหากระทบกระเทียบเปรียบเปรยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นสามี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงถือโทษโกรธอันใด[12] ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องการหนังสือถวายพระพรของเซอร์เจมส์ บรุก รายาแห่งซาราวัก ซึ่งทรงเขียนหลังซองจดหมายดังกล่าวไว้ว่า "หนังสือเซอร์เจมส์ บรุ๊ก" ไว้ข้างที่ จึงสอบถามเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระสนมเอกและเป็นเจ้าพนักงานหนังสือข้างที่ ว่าเหตุใดคุณเพียนเถ้าแก่จึงหาหนังสือดังกล่าวไม่พบ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงอ้างคำพูดของคุณเพียน ซึ่งกล่าวว่าเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ระบุว่าด้านหลังซองจดหมายเขียนว่า "ครือคะรึ" คุณเพียนหาหนังสือดังกล่าวไม่พบก็จนใจ ครั้นวันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไปต่อว่าเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ท่านเจ้าพระยาก็กราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกว่า ครือคะรึ ไปบอกคุณเพียนเถ้าแก่ว่า หนังสือซีจำปลุ๊กตามรับสั่ง"[17]

กิจกรรมที่สำคัญของท่านเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ นอกจากในรัชกาลที่ 5 จะได้เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวภายในราชสำนักแล้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรส และพระราชธิดา ในรัชกาลที่ 5 (หมายความว่า ท่านเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้เป็นผู้ที่ถวายน้ำนมจากหน้าอกของท่านเองแก่บรรดาพระราชโอรส-ธิดา เพื่อเป็นปฐมมงคล แต่เมื่อปลายรัชกาลเมื่อท่านมีอายุสูงขึ้นนั้นจนตลอดในรัชกาลที่ 6 น่าจะเป็นการถวายน้ำนมจากพระนมที่มีการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันมากกว่าจะเป็นน้ำนมที่มาจากท่านเอง) หน้าที่นี้ท่านยังได้รับปฏิบัติสืบมาถึงรัชกาลที่ 6 คือได้เป็นผู้รับเบิกพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นครั้งที่สุด

การแต่งกาย

[แก้]
เจ้าคุณพระประยุรวงศ์เมื่อไว้ผมยาว

เมื่อราชสำนักสยามรับอิทธิพลจากชาติตะวันตกเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เรื่องทรงผมของสตรีสยาม มีพระราชประสงค์ให้สตรีเลิกไว้ผมปีกอย่างโบราณ เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวแทน เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงสนองพระราโชบายด้วยไว้ผมยาวประบ่าและขมวดปลายผม เบื้องต้น สตรีชาววังต่างพากันซุบซิบนินทาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เป็นอันมาก แต่ด้วยความที่เป็นคนโปรด เรื่องนินทาจึงค่อย ๆ หายไป และหญิงชาววังจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาไว้ผมยาวสนองพระราโชบาย[11]

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ยังเป็นผู้ริเริ่มการ "สะพายแพร" เป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากการที่ท่านขี่ม้าตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่สะดวกเมื่อจะห่มสไบเฉียงเพราะจะอาจจะหลุดออกจากตัวได้ง่าย เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงใช้การสะพายแพรเย็บติดแนบตัว[11] เผยให้เห็นเสื้อลูกไม้ซึ่งอยู่ภายใน[18] และสวมหมวกอย่างสตรียุโรปเพื่อกันแดด หญิงชาววังก็แต่งกายตามอย่างท่านเรื่อยมา[11] จนกระทั่งการสะพายแพรยุติลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[19] นอกจากการสะพายแพรแล้ว ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มการแต่งกายด้วยการสะพายมาลัยครุย[20] คือมาลัยกลมขนาดใหญ่ มีอุบะห้อยตุ้งติ้งคล้ายระบายเป็นครุยโดยรอบทั้งด้านในและด้านนอก สะพายจากไหล่ขวาและมาซ้าย คล้ายการห่มสไบเฉียงเมื่อนุ่งโจงกระเบน[21]

พ.ศ. 2484 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์เมื่อวัยแก่ชราใกล้จะถึง 90 ปี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศชักชวนสตรีไทยให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เช่นเปลี่ยนตัดผมสั้นเป็นไว้ยาว เปลี่ยนนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งถุง และให้ใส่เกือกใส่หมวกเป็นต้น รัฐบาลไทยได้ชวนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ให้เป็นผู้นำสตรีที่มีบรรดาศักดิ์ให้เปลี่ยนแปลง ท่านก็ยินดีรับช่วยและเอาตัวของท่านเองออกหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามอย่างที่ต้องการ ก็มีผลให้ผู้อื่นปฏิบัติตามท่านอย่างคึกคัก ท่านจึงได้รับความเคารพนับถือจากรัฐบาลในสมัยนั้นและได้รับเชิญไปเข้าสมาคมและไปเป็นประธานในการให้รางวัลต่าง ๆ ต่อมาเนือง ๆ

การบำเพ็ญกุศล

[แก้]

นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ อีกในคราวฉลองอายุครบรอบ เช่น สร้างสุขศาลาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ บูรณะศาสนสถานต่าง ๆ ในวัดของบุรพชนทั้งในและนอกจังหวัดพระนคร เช่นปฏิสังขรณ์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร[22] สร้างตึกประยูรวงศ์ในวัดบุปผารามวรวิหาร[23] สร้างเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลมวัดสุรชายาราม[24] เป็นต้น

เกียรติยศ

[แก้]

บรรดาศักดิ์

[แก้]
  • 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 – พ.ศ. 2410 : คุณแพ
  • พ.ศ. 2410 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 : หม่อมแพ ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 22 เมษายน พ.ศ. 2447 : เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5
  • 22 เมษายน พ.ศ. 2447 – 26 กันยายน พ.ศ. 2464 : เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5
  • 26 กันยายน พ.ศ. 2464 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2486 : เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 350.[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 วิจิตรวาทการ, น.พ.วิบูล (สิงหาคม 2544). พระปิยมหาราช รัฐกิจและชีวิตส่วนพระองค์ (2 ed.). 217 ซอยสุขุมวิท 20 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร: บริษัท สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด. ISBN 974-7481-07-3. ((cite book)): |access-date= ต้องการ |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์". ศิลปะไทย. 3 ธันวาคม 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-17. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 6
  5. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 8
  6. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 9
  7. "ถิ่นฐานและร้านเรือนของสกลุบุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (13 มิถุนายน 2564). "เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่รัชกาลที่ 5 ทรง "จีบ" แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ที่สุดของ "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" และพระราชธิดา "พระองค์ใหญ่"". ประชาชาติธุรกิจ. 26 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์". ข่าวสด. 5 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ผู้นำแฟชันสตรีไทย". ศิลปวัฒนธรรม. 13 สิงหาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 ขนิษฐา บัวงาม. พระมหาธีรราชเจ้าและโฮเต็ลวังพญาไท. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2557, หน้า 52-53
  13. "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผู้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวหลังเกษียณ". สยามเรเนซองส์. 22 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผู้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวหลังเกษียณ". Siam Renaissance. 22 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2565. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์, เล่ม 38, ตอน ง, 2 ตุลาคม พ.ศ. 2464, หน้า 1834
  16. "วัดสุรชายาราม". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  17. ส.พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564, หน้า 75
  18. "เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย แต่ละสมัยรับอิทธิพลจากไหนกันบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 17 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. ((cite web)): ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. 2525. p. 33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2022-08-28.
  20. ภัทรธีรา เพ็ชรบัวศักดิ์ (2558). โครงการออกแบบชุดอุปกรณ์ประดิษฐ์ดอกไม้ไทยแบบประยุกต์ (PDF). คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 5.
  21. อภิรัติ โสฬศ และคณะ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (2559). รายงานวิจัย เรื่อง การพัฒนามาลัยจากผ้าด้วยเทคโนโลยีการตกแต่งกลิ่น (PDF). คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร. p. 13.
  22. "การสร้างวัดในสกุลบุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2022-08-28.
  23. "ถาวรวัตถุอื่นๆ". วัดบุปผาราม วรวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2022-08-28.
  24. "วัดสุรชายาราม พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี.
  25. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐, ตอน ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖, หน้า ๓๗๔
  26. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๒๕, ตอน ๓๖, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๑, หน้า ๑๐๔๑
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๕, ตอน ๓๙, ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๑, หน้า ๑๑๕๓
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๗, ตอน ๐, ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๓๗๓๑
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๑๑๔
  30. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-10-25.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
{{bottomLinkPreText}} {{bottomLinkText}}
เจ้าคุณพระประยุรวงศ์
Listen to this article

This browser is not supported by Wikiwand :(
Wikiwand requires a browser with modern capabilities in order to provide you with the best reading experience.
Please download and use one of the following browsers:

This article was just edited, click to reload
This article has been deleted on Wikipedia (Why?)

Back to homepage

Please click Add in the dialog above
Please click Allow in the top-left corner,
then click Install Now in the dialog
Please click Open in the download dialog,
then click Install
Please click the "Downloads" icon in the Safari toolbar, open the first download in the list,
then click Install
{{::$root.activation.text}}

Install Wikiwand

Install on Chrome Install on Firefox
Don't forget to rate us

Tell your friends about Wikiwand!

Gmail Facebook Twitter Link

Enjoying Wikiwand?

Tell your friends and spread the love:
Share on Gmail Share on Facebook Share on Twitter Share on Buffer

Our magic isn't perfect

You can help our automatic cover photo selection by reporting an unsuitable photo.

This photo is visually disturbing This photo is not a good choice

Thank you for helping!


Your input will affect cover photo selection, along with input from other users.

X

Get ready for Wikiwand 2.0 🎉! the new version arrives on September 1st! Don't want to wait?