For faster navigation, this Iframe is preloading the Wikiwand page for พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน.

พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน
พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน (ค.ศ. 980)
ปีค.ศ. 980
ประเภทประติมากรรมแกะสลักไม้ปิดทองคำเปลว
มิติ74 cm × 27 cm (29 นิ้ว × 11 นิ้ว)
สถานที่มหาวิหารเอ็สเซิน เอ็สเซิน

พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน (อังกฤษ: Golden Madonna of Essen) เป็นประติมากรรมของพระแม่มารีและพระบุตรที่มีแกนที่สลักจากไม้แล้วปิดด้วยทองคำเปลว พระแม่มารีทองแห่งเอสเซินเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติของมหาวิหารเอสเซินที่เดิมเป็นแอบบีเอสเซินในนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลินในเยอรมนี และตั้งแสดงอยู่ในมหาวิหาร

“พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ที่เป็นงานประติมากรรมที่สันนิษฐานกันว่าสร้างราวปี ค.ศ. 980 เป็นประติมากรรมทั้งที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบของพระแม่มารีและพระบุตร และเป็นประติมากรรมลอยตัวที่เก่าแก่ที่สุดของทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ และเป็นงานชิ้นสำคัญที่ยังคงเหลืออยู่จากสมัยออตโตเนียน พระแม่มารีทองแห่งเอสเซินยังคงเป็นประติมากรรมอันเป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชนและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพลเมืองของประชากรในภูมิภาครูห์ พระแม่มารีทองเป็นงานชิ้นเดียวที่ยังอยู่ครบทั้งองค์ของลักษณะงานประติมากรรมที่ดูเหมือนจะเป็นงานประติมากรรมที่สร้างกันเป็นสามัญในบรรดาคริสต์ศาสนสถานหรือแอบบีที่มีฐานะดีของคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 ทางตอนเหนือของยุโรป งานบางชิ้นของงานลักษณะนี้มีขนาดเท่าคนจริง โดยเฉพาะรูปสลักพระเยซูตรึงกางเขน

เวลาที่สร้าง

[แก้]

ประติมากรรมชิ้นนี้สันนิษฐานกันว่าสร้างราวปี ค.ศ. 980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาในสมัยของมาทิลดาที่ 2 (ค.ศ. 971–ค.ศ. 1011) พระราชนัดดาในจักรพรรดิออตโตที่ 1 เมื่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่แอบบีเอสเซิน ในสมัยของมาทิลดา, โซเฟียแห่งกันเดิร์สไฮม์เจ้าอาวาสองค์ต่อมา (ค.ศ. 1012–ค.ศ. 1039) และทีโอฟานู (ค.ศ. 1039–ค.ศ. 1058) แอบบีเอสเซินก็ทำการซื้อหางานศิลปะอันมีค่าที่สำคัญที่สุดมาเป็นสมบัติของแอบบี ศิลปินผู้สร้างงานชิ้นนี้ไม่เป็นที่ทราบว่าเป็นใคร แต่โดยทั่วไปสรุปกันว่าสร้างที่โคโลญหรือฮิลเดสไฮม์ ฮิลเดสไฮม์มีพระแม่มารีที่มีอายุน้อยกว่า แต่โคโลญดูเหมือนจะเป็นที่พำนักของศิลปินเพราะลักษณะของผ้าที่ทบบนพระองค์มีลักษณะคล้ายเสื้อผ้าบนตัวแบบบน “กางเขนออตโต-มาทิลดา” ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 982 ซึ่งก็เป็นสมบัติของแอบบีเอสเซินเช่นกัน ที่สร้างโดยช่างทองโคโลญ เพราะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับกางเขนเยโรของมหาวิหารโคโลญ

ลักษณะ

[แก้]
รายละเอียด

พระแม่มารีของประติมากรรมชิ้นนี้ประทับบนม้านั่งโดยมีพระเยซูที่มีขนาดใหญ่กว่าสัดส่วนเล็กน้อยบนพระเพลา พระองค์ทรงทูนิคแขนยาวรัดพระองค์คลุมด้วยผ้าคลุมพาลลาที่โอบรอบพระองค์ขึ้นไปบนพระพาหา บนพระเศียรเป็นผ้าคลุมผมที่ชายอยู่ภายใต้พาลลา ในพระหัตถ์ขวาเป็นลูกโลกที่ทรงชูไว้ด้วยหัวแม่มือและนิ้วสองนิ้ว ขณะที่พระกรซ้ายทรงประคองพระบุตรผู้ทรงเครื่องทรงอย่างพระสันตะปาปา ในอ้อมกรซ้ายของพระเยซูเป็นหนังสือที่ดูเหมือนหน้าปกจะประดับด้วยอัญมณี

ประติมากรรมสูง 74 เซนติเมตร โดยมีฐานกว้าง 27 เซนติเมตร แกนประติมากรรมสลักจากไม้ชิ้นเดียวที่น่าจะเป็นไม้จากต้นพ็อพพลา แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ก่อนหน้านั้นสรุปว่าเป็นไม้จากต้นแพร์, พลัม หรือ ไลม์ ผิวหุ้มด้วยทองคำเปลวทั้งองค์ที่หนาเพียง 0.25 มิลิเมตรที่ยึดด้วยตาปูทองขนาดจิ๋ว ขนาดของแผ่นทองที่ใช้ก็ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่ใช้บนองค์ประติมากรรม ทั้งพระพักตร์ของทั้งพระแม่มารีและพระบุตรใช้ทองเพียงแผ่นเดียว สีพระเนตรเคลือบด้วยคลัวซอนเน พระเนตรของพระแม่มารีลึกลงไปในเบ้าที่แกะไว้ แต่พระเนตรของพระบุตรเพียงแต่ปะทับไว้เฉย ๆ มือของพระบุตรทำด้วยเงินหล่อและเพิ่งมาสร้างต่อเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระหัตถ์ขวาเดิมสูญหายไป ร่องรอยของการตกแต่งเดิมจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 พบบนลูกโลก, บนขาหลังขวาของม้านั่ง และบนหนังสือ และ บนรัศมี เข็มกลัดรูปอินทรีที่ตรึงเสื้อคลุมของพระแม่มารีเป็นงานที่มาเพิ่มเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เข็มกลัดตรึงภายใต้งานกอธิคมีอายุมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14

การอนุรักษ์

[แก้]

“พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ได้รับการบูรณะเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 เมื่อมาถึงเวลานั้นแก่นไม้ก็พรุนไปด้วยรูไชของหนอนไม้และแทบจะทำให้งานประติมากรรมทรุดฮวบลงมา นักอนุรักษ์จึงทำการหล่ออย่างระมัดระวังในแม่พิมพ์พลาสเตอร์, พ่นรูพรุนเพื่อกำจัดผงที่เกิดจากการไชชอนของหนอน, ชุ่มด้วยยาฆ่าแมลง และอุดด้วยส่วนผสมที่เป็นกาว, ชอล์ค และ น้ำ กระบวนการเป็นไปอย่างละเอียดละออเพื่อให้เข้าถึงทุกซอกทุกมุมเท่าที่จะเข้าถึงได้ จากนั้นก็อุดรูบนผิวของเนื้อไม้ด้วยตาปูที่ทำด้วยไม้โอ้ค การบูรณะเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,200 มาร์คทองที่ส่วนหนึ่งจ่ายโดยรัฐปรัสเซีย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง “พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ได้รับความเสียหายจากการพยายามรีบขนย้ายหนี ที่ทำให้แผ่นทองหลายแผ่นหลุดจากผิด ซึ่งทำให้หนอนไม้เข้าไปทำการไชชอนได้อีกครั้ง การบูรณะครั้งที่สองทำโดยคลาสเซินช่างทองชาวเอสเซิน ผู้รมประติมากรรมด้วยยาฆ่าแมลงและอุดรูด้วย “ไม้เหลว” (liquid wood) หรือพลาสติกที่ใช้กันโดยทั่วไปในการซ่อมอนุรักษ์งานไม้

การบูรณะครั้งล่าสุดทำเมื่อปี ค.ศ. 2004 ภายในมหาวิหาร โดยมีการตั้งห้องอนุรักษ์ภายในสังฆทรัพยคูหา เพื่อตรวจสภาพของประติมากรรมโดยการฉายรังสีเอกซ์และการส่องกล้องเพื่อตรวจสอบช่องหรือรูภายในประติมากรรม นอกจากนั้นก็ได้นำตัวอย่างไม้ และ สิ่งสกปรกที่เกาะไปทำการวิจัยทางเคมี ผู้เชี่ยวชายให้คำแนะนำว่างานประติมากรรมควรจะรักษาไว้ในสถานที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและไม่ควรจะเป็นบริเวณที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ นักอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ไม้ริอา เริททิงเกอร์ และ มิคาเอลา ฟอน เวลคทำการซ่อมส่วนที่เป็นม้านั่ง และ ช่างเงินปีเตอร์ โบลจ์ทำการขัดผิวที่เป็นโลหะ และ พระหัตถ์ขวาที่ทำด้วยเงินของพระบุตรที่ดำลงไปให้วาววามขึ้น

ประวัติ

[แก้]

บันทึกจากยุคกลาง

[แก้]
ด้านหน้าด้านตะวันตกของมหาวิหารเอสเซิน

เมื่อใดหรือผู้ใดที่จ้างหรืออุทิศทรัพย์ในการสร้างประติมากรรมชิ้นนี้นั้นไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด และหลักฐานตามลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงก็แทบจะหาไม่ได้ในช่วงสองร้อยปีแรกที่สร้างขึ้น แต่ที่ทราบแน่คือเป็นงานที่ตกมาเป็นสมบัติของแอบบีในปี ค.ศ. 993 เมื่อจักรพรรดิออตโตที่ 3 เสด็จประพาสแอบบีและพระราชทานมงกุฎ ที่เรียกว่า “มงกุฎยุวกษัตริย์” ที่ยังคงเป็นของมหาวิหารมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ตั้งแต่เมื่อมีการกล่าวถึงพระแม่มารีทองเป็นครั้งแรกก็กล่าวถึงว่าได้รับการรักษาไว้ระหว่างการสงคราม ความความขัดแย้งระหว่างสังฆมณฑลโคโลญและลอร์ดแห่งอิเซนแบร์กเกี่ยวกับผู้ใดควรจะมีอำนาจปกครองแอบบีเอสเซินเป็นผลให้อัครสังฆราชเองเกิลแบร์ตที่ 2 แห่งแบร์กถูกฆาตกรรมโดยฟรีดริชแห่งอิเซนแบร์กในปี ค.ศ. 1225 แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนอย่างใดต่อประติมากรรม หรือไม่แม้แต่ระหว่างกรณีที่ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายร้อยปีที่ว่าเมืองเอสเซินควรจะเป็นราชนครรัฐอิสระหรือควรจะขึ้นต่อแอบบี

ตราอาร์มของเมืองเมืองเอสเซินในปี ค.ศ. 1244 เป็นภาพพระแม่มารีทองขนาบระหว่างนักบุญคอสมาสและดาเมียน เอกสารแรกที่กล่าวถึงพระแม่มารีทองมาจาก “Liber Ordinarius” ของปี ค.ศ. 1370 ที่บรรยายถึงพิธีและการแห่พระรูปอย่างละเอียด คำบรรยายที่กล่าวว่าแคนนอนรับพระแม่มารีทองจากมือของเหรัญญิกเพื่อนำไปแห่เนื่องในโอกาส “วันสมโภชน์ความบริสุทธิ์ของพระแม่มารี” (Purification of the Virgin) ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระแม่มารีทองได้รับการนำออกมาแสดงต่อสาธารณชนเพียงปีละครั้ง นอกจากนั้นไปแล้วก็เก็บรักษาไว้จากสายตาประชาชน สถานที่เก็บก็สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นด้านหน้าด้านตะวันตกที่มีลักษณะเหมือนป้อมปราการของมหาวิหารเอสเซิน หรือที่ “armarium dictum sychter” ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเติมจากทางเดินกลางตอนใต้

ประติมากรรมเพิ่งมาถูกเรียกว่า “พระแม่มารีทอง” ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หนังสือศาสนาที่เขียนราวปี ค.ศ. 1370 เพียงแต่บรรยายว่าเป็น “dat gulden bild onser vrouwen” (ไทย: ประติมากรรมทองของพระแม่มารี) การสำรวจทรัพย์สินของแอบบีในปี ค.ศ. 1626 บันทึกว่าเป็น “Noch ein gross Marienbelt, sitzend uff einen sthuell mit lauteren golt uberzogen” (ไทย: ประติมากรรมพระแม่มารีอีกชิ้นหนึ่ง ที่ประทับบนม้านั่งและหุ้มด้วยทองคำแท้)

การย้ายพระรูปหนีภัยและสมัยใหม่ตอนต้น

[แก้]

สงครามสามสิบปีทำให้มีความจำเป็นต้องทำการย้ายพระแม่มารีทองไปซ่อน ในปี ค.ศ. 1634 มาเรีย คลารา ฟอน สเปาร์ พฟลอม และ วาเลอร์เจ้าอาวาสของแอบบีนำหนีไปยังโคโลญพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ของแอบบี พระแม่มารีทองจึงอยู่ที่โคโลญจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1648 ในช่วงเวลานั้นพระแม่มารีทองก็ได้รับการนำเข้าขบวนแห่ในโคโลญ และเป็นงานชิ้นที่เด่นกว่าสมบัติใดของโคโลญ ตามคำกล่าวอ้างของทางแอบบิเอสเซิน

การย้ายพระรูปหนีภัยครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1794 ก่อนที่กองทัพของฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศสจะคืบหน้าเข้ามา ครั้งนี้นำไปซ่อนไว้ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าใกล้เมืองชตีลเลอ แอบบีเอสเซินถูกยุบในปี ค.ศ. 1803 หลังจากการปฏิรูปดินแดนในเยอรมนี พระแม่มารีทองจึงตกไปเป็นของวัดเซนต์โยฮันน์ซึ่งเป็นวัดประจำท้องถิ่นที่ใช้ตัวแอบบีเดิมเป็นวัด ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประติมากรรมก็ถูกล็อกรักษาไว้ในสังฆทรัพยคูหาและแทบจะไม่ได้รับการตรวจหรือศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์

คริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้]

พระแม่มารีทองอยู่ที่เอสเซินตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ถูกย้ายหนีอีก หลังจากการปฏิวัติโดยคอมมิวนิสต์ในบริเวณรูห์ในฤดูร้อนของปี 1920 แล้วเจ้าหน้าที่ของวัดเซนต์โยฮันน์ก็กลัวว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้นอีก จึงได้ตัดสินใจหาทางซ่อนพระแม่มารีทองในที่ที่ปลอดภัยและต้องไม่เป็นที่ทราบโดยนักบวชเองด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการยักยอกหรืออื่น ๆ เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ช่างทองจากอาเคินให้หาที่ให้ ช่างทองทำการตกลงกับสังฆมณฑลอีกแห่งหนึ่งว่าจะทำการซ่อนพระแม่มารีทองและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เคยเป็นของแอบบีเอสเซินในสถานที่ที่ตนเองและผู้ได้รับมอบหมายเท่านั้นที่จะทราบ แม้แต่พระสังฆราชก็ทราบเพียงแต่แผนการคร่าว ๆ และไม่ทราบสถานที่แท้จริงที่จะทำการซ่อน เอกสารบรรยายรายละเอียดของที่ซ่อนนำไปฝากไว้ที่สังฆมณฑลดัตช์ในกรณีที่คนกลางถูกสังหาร แผนการดังกล่าวเป็นแผนที่รัดกุมเป็นอันมากจนกระทั่งแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ทราบว่าที่ซ่อนในช่วงนั้นคือที่ใด แต่ที่ทราบคือได้รับการบรรจุในกระเป๋าเดินทางกระดาษเก่า ๆ และถูกนำไปยังสถานที่ที่ตั้งอยู่ในสังฆมณฑลฮิลเดสไฮม์ เอกสารบรรยายรายละเอียดของที่ซ่อนไว้ที่สังฆมณฑลดัตช์ก็ได้รับการทำลายหลังจากที่ได้นำพระรูปกลับมายังเอสเซินโดยปลอดภัยในปี ค.ศ. 1925 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง เมื่อนำกลับช่างทองและบุตรชายก็ไปนำพระรูปจากที่ซ่อน นั่งรถไฟชั้นสี่และถือพระรูปที่อยู่ในกระเป๋าถือธรรมดา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรัพย์สินของเอสเซินถูกนำไปซ่อนที่วอร์ชไตน์ก่อน ต่อมาที่ปราสาทอัลเบร็คท์สบวร์กในแซกโซนี และในที่สุดก็ถูกนำไปซ่อนไว้ในหลุมหลบภัยทางอากาศที่ซีก จนกระทั่งมาพบโดยทหารอเมริกันเมื่อปลายสงคราม ในเมื่อสังฆทรัพยคูหาที่เอสเซินถูกทำลายโดยลูกระเบิดระหว่างสงคราม พระแม่มารีทองจึงมิได้รับการนำกลับจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1950 ก่อนที่จะนำกลับก็ถูกนำไปตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐแห่งเฮสเซียนที่มาร์บวร์ก ต่อมาที่ปราสาทดิคใกล้เรย์ดท ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1949 ก็ตั้งแสดงอยู่ในงานแสดงศิลปะที่บรัสเซลส์ ต่อมาจนกระทั่งเดือนตุลาคมที่อัมสเตอร์ดัม และในที่สุดก็กลับมายังเอสเซิน จนกระทั่งการก่อสร้างมหาวิหารเอสเซินเสร็จ พระแม่มารีทองก็ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องนิรภัยของธนาคารที่เอสเซิน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพระแม่มารีทองก็ประทับอยู่ที่เอสเซินตลอดมา

ประติมานวิทยา

[แก้]

อิทธิพล

[แก้]

พระแม่มารีทองเป็นทั้งงานประติมากรรมทั้งที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบของพระแม่มารีและพระบุตร และเป็นประติมากรรมลอยตัวที่เก่าแก่ที่สุดของทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ และเป็นงานหนึ่งในสองชิ้นของงานปิดทองของรูปลักษณ์ของลัทธินิยมของยุคกลาง งานปิดทองหรือหุ้มทองมักจะกล่าวถึงในเอกสารของยุคกลาง และนอกไปจากรูปของนักบุญฟิเดสที่แอบบีที่ Conques en Rouergue ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้ว ก็ไม่มีงานอื่นใดที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็น (พระแม่มารีฮิลเดสไฮม์ถูกลอกแผ่นทองที่ครั้งหนึ่งเคยมีหุ้มออก) และเป็นที่ทราบกันว่าจักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงมีกางเขนที่มีพระรูปของพระเยซูขนาดเท่าคนจริงที่ทำด้วยทองที่ชาเปลพาเลไทน์แห่งอาเคิน ที่เป็นงานประเภทเดียวกันชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนั้นก็ยังมีพระรูปอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่าที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ที่ได้รับการบันทึกไว้ในคริสต์ศาสนสถานแองโกล-แซ็กซอนและอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นประติมากรรมพระเยซูตรึงกางเขนที่บางครั้งก็จะขนาบด้วยพระแม่มารีและนักบุญจอห์น เช่นงานที่สร้างโดยสเปียร์ฮาฟ็อคในคริสต์ศตวรรษที่ 11

การที่ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นปฏิมากรรมลอยตัวและมีตาเคลือบทำให้เห็นว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลจากศิลปะไบแซนไทน์ที่เริ่มเผยแพร่เข้ามาในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หลังการอภิเศกสมรสของจักรพรรดิออตโตที่ 2 กับธีโอฟานูผู้เป็นเจ้าหญิงไบแซนไทน์ในปี ค.ศ. 972 แม้ว่างานประติมากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้จะมิใช่งานแบบประเพณีนิยมไบแซนไทน์หลังจากสมัยที่เกิดการทำลายรูปเคารพสมัยไบแซนไทน์ขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปบ่งให้เห็นว่าประติมากรผู้สร้างงานไม่มีความชำนาญในการแกะสลักปฏิมากรรมลอยตัว เพราะด้านหน้าและหลังดูไม่มีความสมมาตรต่อกัน

ความสำคัญทางศาสนาและการเมือง

[แก้]

งานประติมากรรมพระแม่มารีทองแห่งเอสเซินก็เช่นเดียวกับงานศิลปะยุคกลางอื่น ๆ ที่เป็นงานที่เต็มไปด้วยลักษณะอันซับซ้อนของสามัญสัญลักษณ์ต่าง ๆ พระแม่มารีทรงพระภูษาแบบที่เรียบง่ายขณะที่พระเยซูผู้มีพระวรกายที่ใหญ่กว่าที่ควรบนพระเพลาทรงพระภูษาแบบพระสันตะปาปาอันมีค่า ขนาดเป็นการแสดงถึงความสำคัญของพระเยซูผู้ทรงเป็นผู้มาไถ่บาป ในทางตรงกันข้ามพระแม่มารีทรงเป็นเพียงผู้ดำเนินตามรอยพระบาทตามที่บันทึกในพระวรสารนักบุญลูค 1:38: “ส่วนมารีย์จึงทูลว่า "ดูเถิด ข้าพเจ้าเป็นหญิงคนใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามคำของท่านเถิด" แล้วทูตสวรรค์นั้นจึงจากเธอไป”[1] แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ประทับบนบัลลังก์แห่งปัญญาเช่นบัลลังก์โซโลมอนที่บรรยายใน1 พงศ์กษัตริย์ 10:18: “กษัตริย์ทรงกระทำพระที่นั่งงาช้างขนาด ใหญ่ด้วย และทรงบุด้วยทองคำอย่างงามที่สุด”[2] บนพระเพลาเป็นพระบุตรผู้ทรงพระภูษาที่แสดงความเป็นประมุขคนสำคัญของสวรรค์ หนังสือในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธา เมื่อพิจารณากันว่าพระเยซูในยุคกลางจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นพระกรขวาที่หายไปก็อาจจะเป็นพระกรที่อยู่ในท่าประทานพร แต่พระพักตร์ของพระเยซูหันไปทางพระแม่มารี แต่สายพระเนตรของพระแม่มารีมองไปทางผู้ชื่นชม ฉะนั้นพระแม่มารีจึงไม่เป็นแต่เพียงผู้ตามที่ไม่มีบทบาท แต่ทรงเป็นเหมือนผู้ประสานระหว่างผู้ศรัทธาและพระมหาไถ่

ความหมายของลูกโลกในพระหัตถ์ขวาของพระแม่มารีตีความกันไปได้หลายอย่าง ที่อาจจะเป็นนัยยะถึง “ลูกโลกประดับกางเขน” ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ “ลูกโลกประดับกางเขน” มิได้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์จนกระทั่งเมื่อมาถึงการบรมราชาภิเษกของจักรพรรดิคอนราดที่ 2 ในปี ค.ศ. 1024 และการแสดงการถือ “ลูกโลกประดับกางเขน” ก็มักจะถือทั้งมือมิใช่เพียงสามนิ้วตามที่ปรากฏในประติมากรรมชิ้นนี้ ฉะนั้นลูกโลกจึงควรจะเป็น “แอปเปิลแห่งการไถ่บาป” — ทำนองเดียวกับที่อีฟถือแอปเปิลแห่งความชั่วร้ายที่เก็บมาจากต้นไม้แห่งความรู้แห่งความดีและความชั่ว ฉะนั้นพระแม่มารีจึงเชื่อกันว่าทรงเป็นผู้ถือผลแอปเปิลที่เป็นสัญลักษณ์ของการมาแก้บาป โดยการมากำเนิดของพระเยซู พระแม่มารีจึงถือว่าเป็นอีฟของพันธสัญญาใหม่

อีกความหมายหนึ่งของลูกกลมใกล้เคียงกับทฤษฎี “ลูกโลกประดับกางเขน” แม้ว่าจะยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จนอีกร้อยปีต่อมา แต่ความคิดที่ว่าลูกกลมเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือโลกเป็นความคิดที่เป็นที่เข้าใจกันแล้วในสมัยที่สร้างงานประติมากรรม การใช้สัญลักษณ์ของอำนาจปรากฏในหนังสือวิจิตรคาโรแล็งเชียงและออตโตเนียน ถ้าว่ากันตามทฤษฎีนี้แล้วพระแม่มารีก็จะเป็นผู้ถือโลกทั้งโลกในอุ้งพระหัตถ์ ในนามของผู้มีอำนาจที่แท้จริงบนพระพระเพลาของพระองค์ — พระบุตร

ภาพพจน์ของมารดาถือสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือโลกสำหรับบุตรชายอาจจะเป็นนัยยะของความหมายทางการเมืองที่กว้างไกลในช่วงเวลาที่สร้างงานศิลปะ จักรพรรดิออตโตที่ 2 พระปิตุลาของมาทิลดาเจ้าอาวาสแห่งแอบบีเอสเซินเสด็จสวรรคตในกรุงโรมในปี ค.ศ. 983 ทิ้งราชบัลลังก์ไว้ให้แก่ออตโตพระราชโอรสพระองค์เดียวที่ทรงมีผู้มีพระชนมายุเพียงสามพรรษา พระราชมารดาธีโอฟานูจึงทรงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แก่พระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิออตโตที่ 3 จนเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 991 เมื่อทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ธีโอฟานูก็ทรงพยายามป้องกันสิทธิของพระราชโอรสจากการอ้างของเฮนรีที่ 2 ดยุคแห่งบาวาเรีย ฉะนั้นพระแม่มารีทองจึงอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการแสดงถึงการกระทำของธีโอฟานู “โดยอำนาจของพระเจ้า” ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของพระราชโอรสผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมในการปกครองจักรวรรดิ จนเมื่อพระราชโอรสจะทรงบรรลุนิติภาวะ และอาจจะเป็นการอนุมานได้ว่าธีโอฟานูทรงอุทิศประติมากรรมชิ้นนี้ให้แก่แอบบี ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ มาทิดาคงจะเข้าข้างจักรพรรดิออตโตที่ 3 และธีโอฟานู ตระกูลของมาทิลดามีประวัติว่าเป็นคู่อริของเฮนรีมาเป็นเวลานาน และมาทิลดาเองก็เป็นทายาทส่วนตัวของพี่ชายออตโตที่ 1 ดยุคแห่งบาวาเรีย ผู้ที่ในปี ค.ศ. 976 ได้รับอาณาจักรดยุคแห่งบาวาเรียหลังจากการปฏิวัติของเฮนรี อีกประการหนึ่งก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เมื่อจักรพรรดิออตโตที่ 3 เสด็จมาประพาสแอบบีในปี ค.ศ. 993 พระองค์ก็และพระราชทาน “มงกุฎยุวกษัตริย์” ให้แก่แอบบีเพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบพระทัยต่อการสนับสนุนของแอบบีเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็เป็นได้

อ้างอิง

[แก้]
  • Falk, Brigitta. “„ein Mutter gottesbild mit gold plattirt“ – Zum Erhaltungszustand der Goldenen Madonna des Essener Doms.” Alfred Pothmann – Hüter und Bewahrer – Forscher und Erzähler - Gedenkschrift. Essen 2003, ISBN 3-00-012328-8
  • Fehrenbach, Frank. Die goldene Madonna im Essener Münster. edition tertius, Ostfildern 1996, ISBN 3-930717-23-9
  • Gerchow, Jan. “Der Schatz des Essener Frauenstifts bis zum 15. Jahrhundert. Zur Geschichte der Institution.” Alfred Pothmann – Hüter und Bewahrer – Forscher und Erzähler – Gedenkschrift. Essen 2003, ISBN 3-00-012328-8
  • Hlawitschka, Eduard. “Kaiserinnen Adelheit und Theophanu.” Frauen des Mittelalters in Lebensbildern. Styria Verlag, Graz 1997.
  • Humann, Georg. Die Kunstwerke der Münsterkirche zu Essen. Düsseldorf 1904.
  • Konnegen, Lydia. “Verborgene Schätze. Der Essener Münsterschatz in Zeiten des Ruhrkampfes.” Münster am Hellweg. Mitteilungsblatt d. Vereins für die Erhaltung des Essener Münsters. Essen 2005, S. 67ff.
  • Leonard Küppers, Paul Mikat: Der Essener Münsterschatz. Fredebeul & Koenen, Essen 1966.
  • Pothmann, Alfred. “Der Essener Kirchenschatz aus der Frühzeit der Stiftsgeschichte.” Herrschaft, Bildung und Gebet – Gründung und Anfänge des Frauenstifts Essen. Klartext, Essen 2000, ISBN 3-88474-907-2

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • ศิลปะออตโตเนียน

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

{{bottomLinkPreText}} {{bottomLinkText}}
พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน
Listen to this article

This browser is not supported by Wikiwand :(
Wikiwand requires a browser with modern capabilities in order to provide you with the best reading experience.
Please download and use one of the following browsers:

This article was just edited, click to reload
This article has been deleted on Wikipedia (Why?)

Back to homepage

Please click Add in the dialog above
Please click Allow in the top-left corner,
then click Install Now in the dialog
Please click Open in the download dialog,
then click Install
Please click the "Downloads" icon in the Safari toolbar, open the first download in the list,
then click Install
{{::$root.activation.text}}

Install Wikiwand

Install on Chrome Install on Firefox
Don't forget to rate us

Tell your friends about Wikiwand!

Gmail Facebook Twitter Link

Enjoying Wikiwand?

Tell your friends and spread the love:
Share on Gmail Share on Facebook Share on Twitter Share on Buffer

Our magic isn't perfect

You can help our automatic cover photo selection by reporting an unsuitable photo.

This photo is visually disturbing This photo is not a good choice

Thank you for helping!


Your input will affect cover photo selection, along with input from other users.

X

Get ready for Wikiwand 2.0 🎉! the new version arrives on September 1st! Don't want to wait?